Home บทความอยู่ออส การหาหมอที่ออสเตรเลีย ต้องทำอย่างไร?

การหาหมอที่ออสเตรเลีย ต้องทำอย่างไร?

by ChaYen
Doctor

การหาหมอที่ออสเตรเลีย ต้องทำอย่างไร? ในหัวอกคนไทยที่อยู่ไกลบ้านทุกคนต่างก็รู้ซึ้งดีว่า การมาอยู่ต่างประเทศนั้น แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญกว่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชีวิตสวยหรูและสะดวกสบายไปเสียทุกอย่าง

เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง และพูดต่างภาษา ยามป่วยไข้ขึ้นมา ครั้นจะหาหมอก็ไม่รู้จะต้องปฏิบัติอย่างไร สื่อสารก็อาจไม่เข้าใจ ยิ่งมีศัพท์เฉพาะทางการแพทย์เข้ามาปะปน ก็เลยกลายเป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่คนไทยไม่อยากไปหาหมอ

การหาหมอที่ออสเตรเลีย

อยากนำเสนอแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในยามที่ความเจ็บป่วยมาเยือน โดยทางทีมงานมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์คุณหมอหลายๆ ท่านที่จะมาตอบคำถามทางการแพทย์ที่หลายคนอยากรู้

การเตรียมตัวไปหาหมอ

สิ่งที่สำคัญสำหรับการมาหาหมอก็คือ เอกสารด้านสุขภาพ ประกันชีวิต Medicare ต่างๆ ที่เรามี ตอนเข้ามาก็มากรอกฟอร์มข้อมูลติดต่อส่วนตัว ทำประวัติไว้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเอกสารทางการเงินก็คือ การป่วยของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหาเอกสาร ยิ่งนานไป การป่วยก็อาจยิ่งร้ายแรงขึ้นได้ คุณสามารถมาหาหมอได้เลย เพราะเราสามารถออกใบเสร็จให้คุณเอาใบเสร็จนี้ไปเคลมเงินคืนจาก Insurance ที่คุณมีได้ ฉะนั้นก็จำไว้ว่า ป่วยแล้วมาหาหมอเลยดีกว่าครับ

การหาหมอที่ออสเตรเลีย

สำหรับเหตุฉุกเฉิน

ถ้าเป็นกลางคืน หลังการทำงานคลินิค ก็แนะนำให้ไป Local Hospital เช่น เกิดอุบัติเหตุ หรือป่วยหนัก Ambulance เป็นบริการของโรงพยาบาลรัฐ NSW แต่เวลาติดต่อให้โทรไปที่ 000 แต่ไม่ใช่ว่าโทรไปแล้วจะได้รถพยาบาลเลย เขาจะไม่ได้อนุมัติทุกกรณี เขาจะพิจารณาเคสที่จำเป็นเท่านั้น เช่นอุบัติเหตุร้ายแรง เพราะตอนนี้รถพยาบาลยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถ้าเป็นไปได้ ให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวพาคุณไปโรงพยาบาลเองก็จะสะดวกและเร็วกว่า และการเรียกรถพยาบาลนี้ก็มีค่าใช้จ่ายด้วย ไม่ได้บริการฟรี

การหาหมอที่ออสเตรเลีย

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว เข้าไปที่แผนกฉุกเฉิน (Casualty) แต่เขาจะให้ลำดับการรักษาเฉพาะเคสที่ต้องพบหมอด่วน โดยเขาจะพิจารณาเป็น 5 ระดับ ระดับ1 จะเป็นการป่วยหรืออุบัติขั้นรุนแรงมากชนิดที่อาจเสียชีวิตภายในทันที เช่น โรคหัวใจกำเริบ เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไล่ลงมาจนถึงระดับ 5 เช่น เป็นหวัดธรรมดา ที่โรงพยาบาลก็จะมีหมอเข้าเวรตลอดเวลา สลับกันไปเหมือนเมืองไทย

สำหรับคนที่ไม่มีวีซ่า

ปกติแล้วเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ เราจะไม่เคยถามอยู่แล้วว่าคุณวีซ่าขาดหรือเปล่า เป็นผีหรือเปล่า หน้าที่หลักของเราคือ รักษาให้คุณหายป่วย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ต้อนรับด้านหน้า เขาก็จะไม่ถามเหมือนกันว่าวีซ่าคุณวีซ่าอะไร สิ่งสำคัญที่เขาจะถามคือ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ที่จะเอาใช้ในการรักษา และข้อมูลติดต่อ (กรณีมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องติดต่อกลับ) หากคุณไม่มี ก็บอกแค่ว่าไม่มี การรักษาในครั้งนั้นๆ ก็แค่จ่ายเงินไป

Dr Viroj

คุณหมอวิโรจน์ เลิศอมรเทพ (GP)

สิ่งที่แตกต่างระหว่างการแพทย์และการพยายาลที่เมืองไทยกับที่นี่ หากเปรียบเทียบกัน ระหว่างโรงพยาบาลรัฐที่ไทยกับที่นี่ ผมว่าไม่ต่างกันมากนัก เพราะเขาให้ความสำคัญกับอาการป่วยมาเป็นหลัก ส่วนที่ไทยนั้นอาจจะต้องตามลำดับคิว แต่ถ้าเปรียบเทียบโรงพยาบาลและการแพทย์ที่นี่ กับโรงพยาบาลเอกชน รับรองว่ายังไงก็ต่างกันแน่นอน เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีความเป็นธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาต้องนำเอาการบริการที่ดีมาเป็นหลัก

ฉะนั้นในการเลือกที่จะรักษาพยาบาลหรือการแพทย์ใดๆ ก็แล้วแต่วิจารณญาณของคนไข้แต่ละคนดีกว่าครับ หากอาการป่วยไม่ได้รุนแรงมาก หรือแค่ตรวจสุขภาพ ก็ใช้บริการที่เมืองไทยได้ แต่หมออยากให้คุณนึกถึงความสำคัญของสุขภาพให้มากๆ ไม่ใช่ว่าป่วยแล้วไม่ยอมไปหาหมอเพราะกลัวหมอ กลัวภาษา กลัวที่จะเสียเงินเยอะ มันไม่คุ้มกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายคุณหรอกครับ

ส่วนที่แตกต่างกันคงจะเป็นขั้นตอนในการรับการรักษา ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย หากคนไข้เป็นอะไรก็สามารถไปโรงพยาบาลแล้วพบกับแพทย์เฉพาะทางสาขานั้นๆเลย แต่ที่นี่จะเราจะไปหาหมอโดยตรงไม่ได้ ขั้นตอนจะเริ่มจากต้องไปหาหมอ GP ก่อน แล้วหากจำเป็น หมอ GP ก็จะส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะด้านอื่นๆ โดยใช้ Referral Letter

และโรงพยาบาลเอกชนที่นี่ ลักษณะการเข้ารับการรักษาจะไม่เหมือนที่เมืองไทย คนไข้ต้องผ่านโรงพยาบาลรัฐก่อน ไม่สามารถเดินเข้าไปใช้บริการได้เลย จะมีไว้สำหรับการรักษาต่อ หรือพักฟื้น เช่น ผ่าตัดแล้วอยากนอนพักโรงพยาบาลเอกชนโดยมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแล หมอก็จะทำเรื่องส่งไป

Dr Su

คุณหมอสุภาวดี เฮงพูลธนา (GP)

คุณหมอสุก็เป็นอีกหนึ่งคุณหมอคนไทยที่มีชาวเอเชียมาใช้บริการกันมาก ซึ่งคุณหมอให้คำอธิบายว่า ข้อแรก เพราะคุณหมอเป็นผู้หญิง อาจจะสะดวกใจสำหรับคนไข้ผู้หญิง และคุณหมอเป็นคนไทย แต่พูดภาษาจีนกวางตุ้งได้ จึงมีชาวเอเชียที่พูดภาษาจีนมาใช้บริการด้วย

หน้าที่หลักของคุณหมอ GP

หมอ GP ย่อมาจาก General Practitioner ก็คือคุณหมอรักษาโรคทั่วไป หรืออายุรแพทย์ค่ะ ซึ่งเป็นด่านแรกในการตรวจรักษาสำหรับคนไข้ทุกคน หน้าที่ของหมอก็จะมีทั้งตรวจรักษาโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ตรวจสุขภาพ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฉีดวัคซีน ตรวจรักษาเบื้องต้น เช่น เป็นหวัด เป็นผื่น ปวดท้อง ปวดหัวและอาการป่วยต่างๆ ค่ะ

หากว่าคนไข้ผู้นั้นจะต้องรักษาเฉพาะด้าน เช่น ตรวจพบแล้วว่าเป็นมะเร็ง หมอ GP จะเป็นเขียน Referral Letter ไปยัง Specialist Dortor หรือแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆค่ะ หรือหากต้องมีการ X- Ray หรือตรวจร่างกายโดยละเอียด หมอ GP ก็จะต้องส่งต่อไปยังส่วนอื่นๆเช่นกันค่ะ สรุปคือ ถ้าเกินหน้าที่ของหมอ GP เราก็จะเขียน Referral Letter ส่งไปให้แพทย์เฉพาะทางต่อ และคนไข้ก็จะต้องทำการนัดกับแพทย์เฉพาะทางอีกที ซึ่งจะมีคิวของการรักษาด้วยนะคะ

”ส่วนที่แตกต่างกันคงจะเป็นขั้นตอนในการรับการรักษา ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย หากคนไข้เป็นอะไรก็สามารถไปโรงพยาบาลแล้วพบกับแพทย์เฉพาะทางสาขานั้นๆเลย แต่ที่นี่จะเราจะไปหาหมอโดยตรงไม่ได้ ขั้นตอนจะเริ่มจากต้องไปหาหมอ GP ก่อน แล้วหากจำเป็น หมอ GP ก็จะส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะด้านอื่นๆ โดยใช้ Referral Letter ”

ChaYen
การหาหมอที่ออสเตรเลีย

ทำอย่างไรเมื่อคนไทยกลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง

การหาหมอที่ออสเตรเลีย ซึ่งหมอไม่อยากให้คนไข้รู้สึกกลัวที่จะมาหาหมอนะคะ ไม่ว่าจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ตาม เพราะคุณสามารถบอกกับพยาบาลตั้งแต่เข้ามาได้เลยว่า เราต้องการล่าม หรือเรียกว่า Medical Interpreter ซึ่งจะมีทั้งแบบมาอยู่ในขณะที่คุณทำการรักษาด้วยและแบบ online หรือโทรศัพท์ ที่เขาจะช่วยแปลทุกอย่างให้คุณฟังค่ะ ฉะนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่า จะสื่อสารไม่รู้เรื่อง แล้วแพทย์จะวินิจฉัยผิดไป แล้วก็จะเป็น Service ของทางโรงพยาบาลที่เขาจะติดต่อให้ เราแค่บอกพยาบาลเท่านั้น ค่าใช้จ่าย จะฟรีสำหรับ PR และ Citizen ส่วนประกันชีวิตอื่นๆก็จะมีค่าบริการแตกต่างกันไปเล็กน้อย บริการล่ามที่พูดถึงนี้มีชื่อว่า Translating and interpreting Service national หรือ TIS National (บริการแปลและล่ามแห่งชาติ) หรือสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ หมายเลข 131 450 เสียค่าโทรศัพท์ในราคาท้องถิ่นจากทุกหนแห่งในออสเตรเลีย TIS National ให้บริการ 24 ชั่วโมงและ 7 วันต่อสัปดาห์ค่ะ

Medicare

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

สำหรับ PR หรือ Citizen นั้น เขาจะมี Medicare กันอยู่แล้ว การบริการส่วนมากจะเป็นแบบ Bulk Billing ซึ่งจะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร สำหรับนักเรียนต่างชาติ หรือวีซ่าอื่นๆ เขาจะมี Insurance ที่บังคับซื้อตอนยื่นวีซ่าอยู่แล้ว ซึ่งผลประโยชน์ในการรักษาก็จะคลอบคลุมแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท นอกจากนี้ยังมีโครงการประกันสุขภาพเอกชน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่ได้ครอบคลุมโดยเมดิแคร์ เช่นการรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ทันตกรรม หรือการรักษาเกี่ยวกับตา หรือค่ารถพยาบาล

และหากว่าคนไข้มีปัญหาทางด้านการเงิน รัฐบาลออสเตรเลียยังมีความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขั้นพื้นฐานผ่านโครงการที่เรียกว่า Medicare Australia สำหรับผู้มีบัตรเมดิแคร์ รัฐบาลยังให้เงินอุดหนุนค่ายารักษาโรคส่วนใหญ่ภายใต้ โครงการสงเคราะห์เภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Benefits Scheme หรือ PBS) ลองหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์นี้นะคะ www.medicareaustralia.gov.au และ www.pbs.gov.au

การหาหมอที่ออสเตรเลีย

แพทย์ทางเลือก

หากเป็นด้านความงาม เช่น ศัลยกรรม ที่ออสเตรเลียก็มีเหมือนกันค่ะ แต่จะไม่มีในโรงพยาบาล เป็นคลินิคเอกชนซะส่วนใหญ่ ส่วนการรักษาโดยใช้สมุนไพร ทางแพทย์ปกติก็จะแนะนำอยู่แล้ว เพราะโรคบางอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน เพราะยาทุกชนิดมีผลข้างเคียงหมด โรคบางอย่างสมุนไพรมันก็ช่วยได้ เราก็จะแนะนำเป็นกรณีไป

การรักษานอกสถานที่

การหาหมอที่ออสเตรเลีย ในการรักษานอกสถานที่ จะเป็นบริการส่วนเอกชนนะคะ ที่คุณหมอคนนั้นๆ หรือศูนย์บริการร่วมของเอกชนที่เขามีบริการไปดูแลคนไข้นอกสถานที่ ฉะนั้น ก็จะมีค่าบริการ ซึ่งในโรงพยาบาล Medical Centre แต่ละแห่งจะมีโบรชัวร์และข้อมูลติดต่อแจก

เบิร์ดดี้ ถิระพัฒน์ (Multicultural Health Education Officer)

Birdie

เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ แนะนำสุขอนามัยทางเพศและคุมกำเนิด

หน้าที่หลัก

หน้าที่ของพี่ก็คือการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศเป็นหลักค่ะ เช่น Safe sex ทำอย่างไร การคุมกำเนิดที่ถูกวิธี วัยรุ่นที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ ปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคทางเพศสัมพันธ์ เกิดอาการแบบนี้ ถือว่าเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศใดหรือไม่ เช่น ในกลุ่มของคนรักร่วมเพศ พี่จะต้องมีออกนอกสถานที่เพื่อไปให้ความรู้ด้านนี้กับชุมชนด้วย

จริงๆแล้ววัฒนธรรมและนิสัยของคนไทย มักกลัวและอายที่จะพูดคุยในเรื่องพวกนี้ แต่มันคือสิ่งที่จำเป็นมากนะคะ ยิ่งสำหรับสังคมที่นี่ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางความคิดและการกระทำที่ถูกต้องค่ะ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศ เราควรที่จะต้องหาความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องตัวเอง แม้แต่การรักร่วมเพศก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ชาวออสเตรเลียยอมรับกัน ฉะนั้น การที่เราสนใจที่หาความรู้ หาข้อมูลตรงนี้รวมถึงการมารับคำปรึกษา การมารักษาเป็นเรื่องจำเป็น มาเถอะค่ะ ไม่ต้องอาย

วิธีการหาหมอที่ออสเตรเลีย

หากจะไปปรึกษาหรือตรวจร่างกาย ทำอย่างไร

หากจะมาติดต่อเพื่อตรวจเช่น การตรวจภายใน สงสัยว่า อาจมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เชื้อรา หรืออาการใดๆก็ตามที่คุณสงสัย คุณสามารถเดินเข้ามาที่โรงพยาบาลแล้ว แผนก Sexual Health Centre ได้เลยค่ะ และบอกกับพยาบาลว่าต้องการพยาบาลคนไทยหรือเจ้าหน้าที่คนไทยเพื่อช่วยในการแปลและให้คำแนะนำด้วยทางพยาบาลก็จะเรียกพี่เข้าไปดูแลตรงนี้ค่ะ ขั้นตอนก็มีกรอกประวัติเช่นเดียวกับสถานที่อื่นๆทั่วไป แล้วก็จะส่งไปยังหมอค่ะ

แต่หากคุณไม่อยากที่จะเปิดเผยตัวตน ทางโรงพยาบาลก็เป็นเหมือนกับคลีนิคนิรนาม คือไม่ต้องบอกชื่อก็ได้ เพื่อความสะดวกใจของคุณเอง เราก็ทำการรักษาให้ปกติค่ะ และข้อมูลทางการแพทย์นี้จะถูกเก็บไว้เป็นความลับค่ะ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษา หรือขอคำแนะนำ

สำหรับในบริการนี้ เราให้บริการฟรีทั้งหมดค่ะ เพราะถือว่าคุณอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพทางเพศ เช่น ตกขาวผิดปกติ มีอาการใดๆ ที่คล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งมาปรึกษาเรื่องเพศศึกษาทั่วไป อย่างวิธีใส่ถุงยางอนามัย วิธีคุมกำเนิดค่ะ

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : www.eofdreams.com, birkenzucker-shop.ch, www.dreamtime.com, www.varicosetretments.net, www.theconversation.com, http://www.123rf.com, www.google.com

Directory

Related Articles