Home บทความอยู่ออส ควีนวิกทอเรียบิลดิง (Queen Victoria Building) 

ควีนวิกทอเรียบิลดิง (Queen Victoria Building) 

by ChaYen

ควีนวิกทอเรียบิลดิง (Queen Victoria Building) เป็นอาคารที่สร้างในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ออกแบบโดย จอร์จ มักเร ในเขตกลางธุรกิจของเมืองซิดนีย์

อาคารนี้เดิมถูกสร้างโดยรัฐบาลเพื่อเป็นอาคารอนุสรณ์ของราชวงศ์ ออกแบบโดยสถาปนิก ชื่อ George McRae สร้างเสร็จในปี 1898 โดยสร้างแทนพื้นที่ตลาดเดิมของซิดนีย์ ช่วงนั้นถือเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนานของประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลจึงสามารถจ้างแรงงานมีฝีมือจำนวนมากมารังสรรค์อาคารได้อย่างวิจิตรบรรจง

ควีนวิกทอเรียบิลดิง

เดิมทีพื้นที่ใช้สอยของอาคาร ได้ใช้เป็นอาคารราชการจึงมีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับรองรับงานราชการ เช่น โถงคอนเสิร์ต ร้านกาแฟ พื้นที่ขายสินค้า สำนักงานและร้านค้า ภายหลังมีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ให้เช่ากึ่งสรรพสินค้าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อาคารนี้ถูกสร้างในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโรมานเนส (Romanesque) หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า สถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ (Byzantine) ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้สร้างโบสถ์ ปราสาทและราชวังในสมัยยุคโหยหาศิลปะโรมัน ถ้าจะเท้าความคงต้องเล่ายาวไปถึงยุคแรกเริ่ม ราวปี ค.ศ. 1800 อาณาจักรโรมันในสมัยนั้นได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ศิลปกรรมในยุคนั้นยังทรงพลังและเป็นที่ยอมรับ

Architect

เนื่องจากเป็นลักษณะแรกเริ่มของการใช้สถาปัตยกรรมแสดงอำนาจของอาณาจักร ศิลปะแบบนี้จึงได้รับความนิยมและเผยแพร่ไปทั่วตะวันตกเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตอนใต้ อิตาลี เยอรมันและฝรั่งเศส ศิลปะสมัยนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของการฟื้นฟูศิลปะตะวันตกเลยทีเดียว

”ควีนวิคตอเรียบิลดิ้งเป็นศูนย์การค้าที่มีร้านรวงต่างๆ ครบครัน และตัวอาคารยังคงสถาปัตยกรรมไว้อย่างดีเยี่ยม เมื่อไปเที่ยวที่นี่นักท่องเที่ยวก็จะได้ทั้งความเพลิดเพลินกับสินค้าจากร้านรวงต่างๆ และได้รื่นรมย์ไปกับความงดงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในขณะเดียวกัน”

ChaYen

เนื่องจากเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดการหวนนำเอาแนวคิดความงามแบบเก่ามาประยุกต์ใช้ในสมัยใหม่ หลังจากนั้นศิลปะแบบเก่าทำนองนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น สถาปัตยกรรมแบบเรเนสซองส์ (Renaissance) และโกทิกส์ (Gothics)

QVB

จากที่โม้เข้าเรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไปแล้ว ขอกลับมาพูดเรื่องอาคาร QVB กันต่อนะคะ อาคาร QVB ก็มีลักษณะเด่นที่สวยงามตามแบบโรมานเนสหลายอย่าง ทั้งการก่ออิฐถือปูนแบบโรมัน การจัดวางผัง การเรียงตัวของเสา การใช้ซุ้มโค้ง และการประดับกระจกสีที่บานหน้าต่าง แต่เนื่องจากสร้างในยุคสมัยใหม่จึงมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มความวิจิตรตระการตายิ่งขึ้นกว่าลักษณะโรมานเนสแบบดั้งเดิมที่ไม่มีการประดับกระจกสีและการโชว์วิธีการก่ออิฐถือปูนโดยไม่มีการฉาบ

ควีนวิกทอเรียบิลดิง

การตกแต่งในปัจจุบันมีการเพิ่มความฟรุ้งฟริ้งมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบสร้างหลังคาโดมน้อยใหญ่สีเขียว ออกแบบเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของศาลากลางเมือง และตั้งใจให้รับกับรูปปั้นหินอ่อนที่แกะสลักโดยศิลปินชื่อดังของออสเตรเลีย (William Priestly MacIntosh, Perier) และรูปปั้นพระราชินีอลิซาเบ็ธทางด้านทิศใต้อีกด้วย

ควีนวิกทอเรียบิลดิง

นอกจากนั้นใครที่เข้าไปในโถงอาคาร QVB จะเห็นนาฬิกาสีทองขนาดใหญ่แขวนห้อยลงมาจากเพดานลงในโถงอาคาร นาฬิกานี้ ชื่อว่า the Great Australian Clock ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของอาคารนี้เช่นเดียวกัน นาฬิกานี้สูงถึง 10 เมตรเลยนะคะ ทำเลียนแบบตามลักษณะของ The Royal Clock ในประเทศอังกฤษ ที่มีการตกแต่งด้วยฉากรูปราชวงศ์จำนวน 6 ฉาก แต่นาฬิกาใน QVB มีขนาดใหญ่กว่ามาก และมีการทำฉากรูปประวัติศาสตร์ออสเตรเลียถึง 33 ฉาก เลยทีเดียว

ควีนวิกทอเรียบิลดิง

ต่อไปนี้ใครเดินเข้าไปในอาคาร QVB ก็ลองเงยหน้าดูหอนาฬิกาดูได้นะคะว่าจะสวยงามอลังการขนาดไหน อาคาร ควีนวิกทอเรียบิลดิง มีการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อประดับตกแต่ง และปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานในปี ค.ศ. 2008-2009 โดยมีการประดับตกแต่งกระจกสีที่บานหน้าต่าง รวมถึงการปรับปรุงการตกแต่งภายในใหม่

อาคาร QVB มีการปรับปรุงการใช้งานภายในหลายครั้ง จากโถงคอนเสิร์ตถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดของเมือง และสำนักงานของรัฐซิดนีย์ในที่สุด จนกระทั่งราว ปีค.ศ. 1959 the Sydney City Council เจ้าของอาคารขณะนั้นได้ตัดสินใจทุบทำลายอาคารบางส่วนทิ้งไป จนกระทั่งเกิดการประท้วงและรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้รัก QVB ทำให้สุดท้ายอาคารได้รับการบูรณะจนเหลืออาคารเท่าที่เห็นในปัจจุบัน

QVB

การประดับตกแต่งกระจกสีประกอบด้วยเรื่องราวของกองทัพ เรือสินค้า และการค้าขาย รวมไปถึงรูปปลาโลมาในบริเวณท่าเรือ โดยช่องกระจกด้านซ้ายมือให้เป็นตัวแทนของส่วนราชการรัฐซิดนีย์และสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรม ในขณะที่ตัวอักษร I.G.B บนช่องที่ 3 ของกระจกสีเป็นเรื่องราวของ Ipoh Gardens Berhad ซึ่งเป็นบริษัทมาเลเซียผู้สนับสนุนการบูรณะอาคาร QVB ช่องหน้าต่าง ช่วงกลางมีรูปที่สื่อสารการผนวก 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกันอีกด้วย ถ้าเพื่อนๆ ไปเที่ยว QVB ก็ลองไปตามหาเรื่องราวต่างๆ บนช่องกระจกสีได้

QVB1

นอกจากนั้น อาคาร QVB ยังเป็นที่เก็บจดหมายของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 ที่ถูกปิดผนึกเก็บเอาไว้จดหมายฉบับนี้พระนางมีความประสงค์ให้ปิดผนึกไว้จนกว่าผู้ว่าเมืองซิดนีย์เปิดอ่านแก่ประชาชนทั่วไปได้ในปีค.ศ. 2085 อีกตั้ง 70 ปีอยากรู้จังว่า พระนางอยากจะบอกประชาชนว่าอะไร หวังว่าจะอยู่ถึง

ปีค.ศ. 2008-2009 มีการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อประดับตกแต่ง และปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานให้เป็นห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบ รวมถึงให้มีร้านค้าขายของแบรนด์เนมเช่าพื้นที่ขายของด้วย การปรับปรุงนั้นรวมถึงชั้นใต้ดิน ชั้น 1-5 ชั้นใต้หลังคา ดาดฟ้าและโถงบันไดให้มีความเก่าแบบโรมานเนสผสมผสานความวิจิตรบรรจงในแบบเรเนสซองส์ด้วย รวมถึงการจัดไฟตกแต่งให้อาคารดูสง่างามมลังเมลืองในเวลากลางคืนอีกด้วย

QVB3

แนวคิดในการปรับปรุงครั้งนี้เน้นความน้อยแบบมีสไตล์แต่ต้องยังคงอนุรักษ์ความสง่างามและเอกลักษณ์ของอาคารไว้ได้โดยที่ใช้โครงสร้างเสริมทางวิศวกรรมให้น้อยที่สุดค่ะ นอกจากนั้นอาคาร QVB นี้ยังถูกออกแบบให้ประหยัดพลังงานจากเดิมถึง 13.7% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุที่ไม่ทำให้โลกร้อนและไม่ทำลายโอโซน 100% การปรับปรุงการตกแต่งภายในครั้งนี้ด้วยงบประมาณ 48 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเลยทีเดียว จึงได้อาคารที่มีความสวยงามเช่นในปัจจุบัน

QVB2

อาคาร QVB ในปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็นสมบัติของชาติและมีการจัดนิทรรศการรวมถึงให้เช่าพื้นที่กิจกรรมบ่อยครั้ง สามารถขอเข้าถ่ายรูปและจัดงานแต่งงานได้ด้วย ถ้าใครสนใจไปเที่ยวชมอาคารก็สามารถซื้อทัวร์ 45 นาทีเข้าชมอาคารพร้อมผู้บรรยายได้ด้วยนะคะ แค่ 15 ดอลลาร์เท่านั้นค่ะ เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร พฤหัสและเสาร์วันละ 1 รอบ เวลา 11.30 น. เท่านั้นค่ะ และพิเศษสุดสำหรับคนรักช็อกโกแลต

ในอาคาร QVB มีร้านช็อกโกแลตชื่อดัง HAIGH’S เพื่อนๆคนไหนสนใจ สามารถซื้อตั๋วชิมช็อกโกแลตได้ค่ะ เค้าเปิดให้ชิมแค่บ่ายสองโมงครึ่งวันพุธ รอบเดียวต่ออาทิตย์เท่านั้นนะคะ ให้ชิมได้ภายในเวลา 90 นาทีในราคา 65ดอลลาร์ค่ะ แต่ถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียวเพราะนอกจากจะได้ชิมช็อกโกแลตทุกแบบที่มีในร้านแล้วยังได้ของที่ระลึกกลับบ้านเป็นเซ็ตเล็กอีกชุดนึงด้วยล่ะค่า ถ้าสนใจทัวร์ทั้ง 2 แบบ สามารถจองตั๋วได้เลยค่าที่เบอร์9264 9209

Related Articles