Home บทสัมภาษณ์ บทบาทผู้หญิงยุคใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน

by ChaYen
คุณหญิงสุดารัตน์

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่ เมื่อเอ่ยชื่อของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หลายคนคงรู้จักดี และพบเห็นท่านผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้ง คุณหญิงจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของผู้หญิงทำงานยุคใหม่ และเข้าสู่บทบาททางการเมืองในระดับสูง ที่มีผู้หญิงน้อยคนนักที่จะก้าวถึงความสำเร็จตรงนี้

ในฐานะ Working Woman แบ่งเวลาให้ครอบครัวอย่างไร

ที่บ้านดิฉันอยู่กันแบบครอบครัวไทย มีคุณตาคุณยายอยู่ด้วย โชคดีที่ลูกๆ ไม่ค่อยเป็นภาระ โดยปกติเขาก็จะมีคุณพ่อคอยไปรับ ไปส่ง และเราก็จะมีวันอาทิตย์ที่เป็นวันครอบครัว ไปไหนมาไหนกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การสวดมนต์ด้วยกันทั้งครอบครัว ซึ่งทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ก็จะมีบ้างในช่วงที่จำเป็นต้องออกงานต่างจังหวัด ลูกๆ ก็เลยมีคุณตาคุณยายดูแล

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่

เคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

การทำงาน ไม่ว่าจะงานอะไรก็แล้วแต่ ใจต้องรัก มันจะทำให้รู้สึกว่าสนุกกับงาน แม้ว่าในปัจจุบันสังคมจะยอมรับผู้หญิงในการทำงานมากขึ้น แต่มันก็เหมือนเป็นเส้นบางๆ กั้นว่าเราก็คือผู้หญิง เราเองต้องปรับตัวมากกว่าผู้ชาย เพื่อที่จะให้เพื่อนร่วมงานกันได้อย่างสบายใจ อย่างเราก็ทำงานร่วมกับข้าราชการผู้ใหญ่ในลักษณะที่ให้เกียรติกัน คือไม่ได้มองว่าเราเป็นผู้บังคับบัญชาแล้วจะใช้อำนาจจนเขารู้สึกอึดอัดเพราะเราเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ที่เด็กกว่า เราสนิทใจที่จะยกมือไหว้เขาในฐานะผู้สูงอายุกว่า

แม้แต่ในเรื่องความคิดเห็น เราก็ให้เกียรติฟังความคิดเห็นของเขาก่อน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บางทีเราก็มีคำตอบของตัวเองในใจอยู่แล้ว แต่การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ฟังความคิดเห็นของคนอื่นก่อน มันอาจเป็นจุดเล็กจุดน้อยที่ช่วยให้คำตอบที่มีอยู่แล้วนั้นเติมเต็มจนสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการลดช่องว่างต่างๆ คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เกียรติยศที่ภูมิใจที่สุดดของ คุณหญิงสุดารัตน์

ดิฉันได้มาหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นสายสะพายสายแดง สายช้าง สายมงกุฎ แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจคือการได้รับพระมาหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯเครื่องราชฯชั้นจุลจอมเกล้าฯ กับเครื่องราชตระกูลใหม่ที่เกิดในรัชกาลที่ 9 ประถมาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ซึ่งเราได้รับพระราชทานให้กรณีพิเศษเพราะลงไปทำงานสึนามิ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งสำหรับดิฉันและเป็นมหามงคลต่อชีวิตเรา

คุณหญิงสุดารัตน์

ดูแลตัวเองและมีหลักในการใช้ชีวิตอย่างไร

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่ ชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้ราบเรียบเลย ยิ่งทำงานการเมืองยิ่งมีแต่เรื่องให้เครียด ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตอนเด็กๆ คุณพ่อสอนอะไรเราเยอะมาก และเราก็สนุกกับการแก้ไขปัญหา แม้ว่าจะมีปัญหาหนักใจ แต่พอกลับบ้านก็จะเขียนไว้ก่อนนอนเลยว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง เขียนเสร็จก็เหมือนปิดสวิตตัวเอง นอน พรุ่งนี้ค่อยมาสู้ใหม่ ไม่เคยต้องพึ่งยานอนหลับเลย และสิ่งง่ายๆ ที่ช่วยให้จิตใจเราผ่านพ้นปัญหาคือหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกข์และสุขอยู่ที่ใจ มันอยู่บนเส้นบางๆ 2 ฝั่งเท่านั้นเอง เราจะคิดให้เป็นทุกข์หรือสุขก็ได้

“บางทีเราก็มีคำตอบของตัวเองในใจอยู่แล้ว แต่การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ฟังความคิดเห็นของคนอื่นก่อนมันอาจเป็นจุดเล็กจุดน้อยที่ช่วยให้คำตอบที่มีอยู่แล้วนั้น เติมเต็มจนสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญ ในการลดช่องว่างต่างๆ คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

ChaYen
lumbini-vana
Photo by ashok acharya on Unsplash

เกี่ยวกับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล

ดิฉันได้มีโอกาสไปที่ประเทศเนปาล ตอนนั้นท่าน เอกอัคราชทูต มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ท่านประจำอยู่ที่นั่น ท่านก็ได้พาไปกราบสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งช่วงที่ไปเป็นหน้าฝน ถนนเละ พื้นเฉอะแฉะ แม้แต่ตอนนั่งสวดมนต์ไหว้พระ ก็ต้องนั่งปูเสื่อกับพื้นที่แฉะๆ และต้องปักธูปกับพื้นดิน เราก็คิดในใจว่าเรามากราบไหว้พระพุทธเจ้าซึ่งอยู่สูงสุด แต่ต้องปักธูปกับพื้นดิน ประกอบกับสถานที่ก็ทรุดโทรมลงไปมาก

จึงเกิดความคิดว่าอยากจะบูรณะสวนลุมพินีนี้ใหม่ทั้งหมด เพราะที่นั่นถือเป็นพุทธสถานที่สำคัญ เป็นแผ่นดินแม่ของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่พระนางเจ้าสิริมหามายาให้กำเนิดพระเจ้าสิทธัตถะ ตอนแรกก็ติดที่กฎข้อห้ามเยอะแยะไปหมด ดิฉันก็เลยรบกวนท่านทูตและท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี (รองหัวหน้าพระธรรมทุตสายอินเดีย เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์และรักษาการเจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี) ให้ช่วยประสานงานจนผ่านทุกขั้นตอน จึงได้รวมรวมเงินกองทุนมาบูรณะ ซึ่งนี่เป็นการบูรณะครั้งที่ 3 นับตั้งแต่องค์พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพาน

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่

สิ่งที่ได้จากคุณแม่ ย้อนมาสู่ตัวเราและส่งผ่านไปยังลูก

คุณแม่ของดิฉันเป็นนักธุรกิจ เป็นคนทำงานหนัก เป็นสไตล์ผู้หญิงรุ่นเก่า ทำงานตลอดเวลา เลี้ยงลูกด้วย ทำการค้าด้วย สิ่งที่ซึมซับมามากที่สุดคือ ความขยัน ความอดทน ความซื่อสัตย์ และอดออม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ส่งผ่านไปยังลูกๆ ของดิฉันเช่นกัน บทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้คือ ตอนที่คุณแม่เสีย ดิฉันรู้สึกผิดมาก เพราะตอนที่ทำงาน เราก็ทำตัวเหมือนเป็นนักเรียน ก่อนไปทำงานเข้าไปลาคุณพ่อคุณแม่ หอมแก้ม ทักทายนิดหน่อย กลับมาตอนดึกก็เข้าไปไหว้ ไปหอมแก้ม ใช้เวลาอยู่กับเขาแค่นิดเดียว เพราะมัวแต่ทำงานอยู่

หลังจากจากช่วงปฏิวัติก็เลยมีเวลามากขึ้น ดิฉันจึงได้พาครอบครัวไปเที่ยว ไปพักผ่อน ไม่นานคุณแม่ก็ป่วยหนัก เราก็ไปเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาลตลอด เมื่อคุณแม่เสีย ความรู้สึกผิดมันเกิดขึ้นในใจ ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ที่ผ่านๆ มา เรามัวทำอะไรอยู่ แทนที่จะอยู่กับเขาให้มากกว่านี้ พอเรามีเวลาได้อยู่กับเขา เขาก็แก่และไม่สบายเกินกว่าที่จะไปเที่ยวไปสนุกกับเราแล้ว พอคุณแม่ท่านเสีย ดิฉันเครียดมาก โทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอนไม่ได้จนถึงขั้นต้องกินยานอนหลับ กินอยู่ 3 เดือน แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้และใช้พระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยเยียวยาตรงนี้ ฉะนั้น ตอนนี้ดิฉันจึงให้ความสำคัญกับครอบครัวมากที่สุด

บทบาทผู้หญิงยุคใหม่

ทราบว่ากำลังจะออกหนังสือ

กำลังเขียนอยู่ค่ะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้ชื่ออะไร คอนเซ็ปคือเราพยายามจะสะท้อนมุมมองในสายตาเราว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราได้อะไร เราสูญเสียอะไรไปบ้าง เพราะมีคนถามบ่อยมากว่าไปทำอะไรใน 5 ปีที่ผ่านมา

อยากฝากอะไรถึงคนไทยที่นี่บ้าง เกี่ยวกับวันแม่

ก็ขอแบ่งเป็น 2 ส่วนนะคะ ส่วนของประเทศและส่วนของครอบครัว คนไทยทุกคนโชคดีมากที่ได้เกิดมาในแผ่นดินที่มีในหลวงและพระราชินีที่ประเสริฐยิ่ง ขอให้คนไทยได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน การที่เราได้เจริญวัฒนามาจนปัจจุบันนี้ก็ด้วยพระคุณอันประเสริฐของสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา ถึงเราจะอยู่ต่างแดน เราก็แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านได้

ส่วนที่สอง วันแม่ของครอบครัว สำหรับเด็กๆ นะคะ คงไม่ใช่แค่วันแม่วันเดียว ของดิฉันน่าจะเป็นเคสตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ถึงแม้ว่าตัวดิฉันเองเนี่ยถือว่าได้ใกล้ชิดพ่อกับแม่มาก ทุกเช้าและเย็น ยังทำตัวเหมือนเด็กๆ เข้าไปคุย ไปกอด ไปลา ไปหอมแก้ม แค่นั้นมันยังไม่พอ โดยเฉพาะใครที่ยังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ ต้องรักท่านให้มากๆ แล้วแสดงความรัก ความกตัญญู ณ วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้แสดง แล้วก็คิดเถอะว่า ไม่มีใครรักเราได้มากเท่าพ่อกับแม่หรอกค่ะ

Related Articles

Leave a Comment