ผักสดที่คุณบริโภค ปลอดภัยหรือไม่ คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งสำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียก็คือ พืชผักที่ปลูกที่นี่ปลอดภัยมากแค่ไหนแล้วมีการตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMO หรือไม่
VR Talk เล่มนี้มีคำตอบให้ท่านผู้อ่านได้คลายสงสัยอย่างแน่นอนเพราะผู้ที่จะมาตอบคำถามนี้ก็คือ ดร. สุรชาติ วุฒาพาณิชย์ ที่จบการศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ทางด้านพืชสวนจากมหาวิทยาลัย ควีนส์แลนด์ (University of Queensland) ปัจจุบันท่านทำงานอยู่ที่บริษัท Rugby Farm บริษัท ปลูกผักรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Gatton รัฐควีนส์แลนด์

ตำแหน่งหน้าที่
ผมทำงานที่นี่มาเกือบ 12 ปี ตำแหน่งของผมก็คือ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการซึ่งมีหน้าที่ดูแลการผลิตผักตั้งแต่ ปลูก พรวนดิน บำรุงรักษา การให้น้ำให้ปุ๋ย การตรวจแปลง ดูปัญหาเรื่องโรคแมลง วัชพืช ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องปัญหาการจัดการฟาร์มเป็นหลัก สมมุติว่าผมออกไปตรวจฟาร์มแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ผมก็จะให้คำแนะนำ เขียนใบสั่งให้พนักงานปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังดูแลไปถึงการควบคุมคุณภาพก่อนการเก็บเกี่ยว แล้วก็มีเรื่องการพัฒนาและวิจัยด้วย เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆมีงานทดลอง เรื่องพันธุ์ผักใหม่ๆ ผมก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบตรงส่วนนี้ด้วย
การใช้สารเคมี
ต้องมีหลายอย่างด้วยกัน ในการผลิตพืชผลการเกษตรขนาดใหญ่เหมือนบริษัท Rugby Farm ที่ปลูกผัก 30,000 ไร่ ผักที่ปลูกเราส่งให้กับห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยเฉพาะ Coles เป็นหลัก เราจะต้องมีการรับประกันคุณภาพความปลอดภัยเพราะว่าผู้บริโภคเองก็ต้องการผักที่สด อร่อย สวยงาม ไม่มีแมลงกัดกิน แมลงจะต้องไม่มีเลย เราจำเป็นจะต้องใช้สารเคมีแต่เป้นสารเคมีที่เหมาะสม
ในขณะเดียวกันเราก็ใช้ วิธีการผสมผสาน อย่างเช่น ใช้แมลงตัวห้ำ ตัวเบียนไปจัดการกับแมลงศัตรูพืช แล้วก็มีการใช้สารชีวภัณฑ์ หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี ไปกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฟาร์มมีความเสียหายระดับหนึ่ง ซึ่งเรามองแล้วว่าถ้าปล่อยเอาไว้ จะทำความเสียหายให้กับผลผลิต เราก็จะสั่งให้มีการพ่นยา แต่ถ้ายังไม่เข้าขั้นวิกฤตเราก็จะใช้วิธีอื่นแทน การใช้สารเคมีคือทางเลือกสุดท้าย

ความปลอดภัยของผักที่ปลูกในออสเตรเลีย
ถือว่าปลอดภัยครับ เพราะเกษตรกรที่ออสเตรเลียถือว่ามีความรู้เรื่องการใช้สารเคมีเป็นอย่างดี เราปลูกในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ทั้งน้ำ ทั้งอากาศ ในการพ่นยา เจ้าหน้าที่พ่นยาทุกคนจะต้องมีใบอนุญาต Chemcert ยกตัวอย่าง พนักงานที่ Rugby Farm ก็ต้องผ่านการอบรม Chemcert
ถ้าเราไปซื้อยาควบคุมศัตรูพืชจากร้านขายยา ถ้าเราไม่มีบัตร เขาก็ไม่ขายให้ นี่ถือเป็นการควบคุมการใช้ยาวิธีหนึ่ง และเราก็ต้องมาศึกษาถึงวิธีการใช้ ความเป็นพิษของยา หลังจากที่ฉีด จะสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อไหร่ รวมทั้งยังมีการบันทึกข้อมูลไว้ด้วยว่า แต่ละวัน พ่นสารเคมีอะไรไปบ้าง สภาพอากาศในวันนั้นเป็นอย่างไร ลมพัดไปทางไหนผักของเราก่อนที่จะเก็บเกี่ยว จะต้องผ่านระยะปลอดภัยหลังจากการพ่นยา และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเราเอง ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างผักไปทดสอบหาสารตกค้าง
ส่วนทางหน่วยงานราชการเองก็มีการสุ่มตัวอย่างผักจากตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าไปตรวจเช่นเดียวกัน ถ้าหากเจอสารตกค้างฟาร์มจะถูกปรับหนักมาก ทางบริษัทเองก็ต้องเก็บตัวอย่างผักในแต่ละล็อตไว้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกันเพื่อจะได้มีหลักฐานตรวจสอบย้อนหลังมายืนยัน ในกรณีที่ทางหน่วยงานราชการไปตรวจเจอสารพิษในผักของเรา

พืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในออสเตรเลีย
ที่ฟาร์มผมไม่มีนะครับ ส่วนในออสเตรเลียผมคิดว่าแทบจะไม่มีเลย เพราะผักกับผลไม้ เรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมมีน้อยมาก ไม่จำเป็น เพราะสามารถผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์จนได้ผักผลไม้ที่ต้องการโดยไม่ต้องไปพึ่งการตัดแต่งพันธุกรรมอาจจะมีบ้างพวกพืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ที่เกษตรกรต้องใช้เมล็ดพันธุ์มาก ทางรัฐบาลออสเตรเลียก็เข้มงวดเรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมอยู่แล้ว เกษตรกรเองก็ไม่อยากจะปลูกเพราะปลูกแล้วก็ขายไม่ได้ ผู้บริโภคเองก็ยังต่อต้านอยู่
”คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ที่เห็นมักไม่มีพื้นฐานทางการเกษตรมาก่อน เพราะคนที่จบมาโดยตรงก็มักจะ คิดว่าตนเองเรียนมาแล้วถือว่าตัวเองรู้มาก พอไปทำจริงก็ไม่สำเร็จ ”
ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในออสเตรเลีย
ฟาร์มของเราเป็นแบบผสมผสานระหว่างเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) กับการเกษตรแบบเก่า (Conventional Farming) ก็คือเราใช้ปุ๋ยหมักพืชคลุมดิน สารชีวภัณฑ์ แมลงตัวห้ำตัวเบียน บางช่วงเราก็ใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ การเติบโตของผักนั้นรวดเร็วมาก เราจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งให้ผักเติบโตเร็ว สวยงามตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
ผักสดที่คุณบริโภค ถ้าถามว่าพืชผักเกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยเสมอไปมั้ย ก็ไม่เสมอไปเพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียติดมากับปุ๋ยก็ได้จริงๆ แล้วคุณภาพผักจากฟาร์มของเรานั้นใกล้เคียงกับแบบเกษตรอินทรีย์ผักมีความปลอดภัยสูง เราปลูกผักเพื่อผู้บริโภคซึ่งต้องการผักที่ไม่มีรอยแมลงเจาะไม่มีหนอนแมลงติดมาด้วย
หัวหอมห่อที่วางขายเป็นแบบเกษตรอินทรีย์แต่มีหนอนเจาะ จะยอมรับได้มั้ย ผักบางอย่าง แค่เป็นรอยช้ำ เป็นจุดดำๆ ยังไม่มีคนซื้อเลย ผมว่าคนเรายังสับสนอยู่กับเรื่องสารเคมีนะ จริงๆ แล้วทุกอย่างบนโลกนี้เป็นสารเคมีทั้งหมด แม้แต่น้ำตาลและเกลือที่เรากินทุกวัน อาจมีอันตรายมากกว่าสารเคมีที่ใช้ฉีดในผักด้วยซ้ำ ถ้ากินในปริมาณที่มาก สารเคมีสมัยใหม่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงและมีสารออกฤทธิ์ต่อแมลงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

การเกษตรที่ออสเตรเลียต่างจากไทยอย่างไร
การเกษตรที่ออสเตรเลียถือว่ามีความก้าวหน้าระดับต้นๆ ของโลก มีการใช้เครื่องทุ่นแรง เครื่องจักรกลในการทำการเกษตร มีระบบการจัดการฟาร์มที่ดี ปลูกในแปลงใหญ่ เนื่องจากประเทศมีพื้นที่มากแต่ประชากรน้อย แล้วก็มีการใช้เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง กล่าวคือประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ติดทะเล แต่ฟาร์มอยู่ไกลเขตเมืองออกไปมาก ผักที่ปลูกบางที่ห่างจากผู้บริโภคเป็นพันๆ กิโลเมตร จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการขนส่งและแรงงาน
เรื่องตลาดก็มีปัญหามีซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70 เปอรเซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ ร้านขายผักผลไม้ตามหัวเมืองจึงลดน้อยลงไปเยอะ ทำให้การตลาดแคบ เกษตรกรรายย่อยอยู่ได้ลำบาก เพราะสู้ค่าแรง ค่าขนส่งไม่ไหว ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็จะมาซื้อกิจการและขยายกิจการของตัวเองจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผลผลิตผัก 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ผลิตโดยเกษตรกรรายใหญ่เพียง 20 รายเท่านั้น
ปัญหาของการเกษตรในประเทศไทย
มีเหตุผลหลายอย่าง เมืองไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน มีเกษตรกรไปจดทะเบียนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร ซึ่งถือว่าเยอะมาก ขณะที่ออสเตรเลียมีเกษตรกรแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็คือแค่ 2 แสนกว่ารายเท่านั้น ที่เมืองไทยเกษตรกรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินคนละค่อนข้างน้อย คนหนึ่งอาจจะมี 1-10 ไร่จึงทำให้เกษตรกร จัดการฟาร์มลำบาก ปลูกผักไม่ได้ทั้งปี ระบบชลประทานมีน้อยมาก ต้องปลูกตามฤดูกาล และยังอาศัยน้ำฝนอยู่
รวมทั้งคนไทยยังถือวัฒนธรรมดั้งเดิมของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทำยังไง ก็ยังทำอยู่เช่นเดิม ปลูกอะไร พันธุ์ไหนก็ยังปลูกอยู่เช่นเดิม โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด แต่ข้อดีของประเทศไทยคือ มีตลาดที่ใหญ่ มีผู้บริโภคเยอะ มีห้างสรรพสินค้าหลายบริษัทอีกเรื่องหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมการแบ่งแยกมรดกที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่มีที่ 10 ไร่ มีลูก 5 คน ก็แบ่งที่ให้ลูกๆ คนละ 2 ไร่ เหลือ 2 ไร่จะทำการเกษตรก็ลำบาก พื้นที่น้อยทำการเกษตรไม่คุ้มก็ต้องขายที่ แล้วก็ย้ายไปทำงานที่อื่น
แต่ถ้าเป็นที่ออสเตรเลีย เขาจะไม่มีการแบ่งที่กัน แต่จะเอามารวมกันเป็นกองกลาง ที่ดินก็ยังอยู่เท่าเดิม แล้วกฏหมายที่นี่เข้มงวด ถ้าที่ดินที่ลงทะเบียนเพื่อทำการเกษตรจะไม่สามารถแบ่งขายได้ ถ้าจะขายต้องขายยกแปลง แต่สามารถแบ่งเอาไปปลูกบ้านได้ส่วนหนึ่ง

ถ้าอยากกลับไปทำการเกษตรที่เมืองไทย
กลับไปทำได้นะครับ ยังมีช่องทางอยู่อีกมากเลย ถ้ามีที่มีทางอยู่แล้ว ก็เริ่มจากเรียนรู้จากพ่อแม่ก่อน ก่อนที่จะปลูกต้องคิดว่าจะปลูกผักชนิดไหน ก็ต้องไปศึกษาตลาด ว่าตลาดต้องการพืชผักชนิดไหน เดือนไหนต้องการมาก เดือนไหนต้องการน้อย ดูราคา ดูคุณภาพ ดูมาตรฐานที่เขาต้องการ ดูทุนทรัพย์ ดูเรื่องแรงงานเพราะเดี๋ยวนี้ แรงงานหายาก
จากนั้นก็ต้องทดลองปลูกแบบเล็กๆ ก่อน ในการเพาะปลูกต้องศึกษาให้ดี ต้องศึกษาสภาพดิน น้ำ อากาศ ว่าเหมาะสมที่จะปลูกมั้ย และควรเลือกปลูกผักเพียงบางชนิดที่ปลูกได้คุณภาพสม่ำเสมอ ปลูกได้ทั้งปี หรือปลูกหลายอย่างแต่เป็นตามฤดูกาลหมุนเวียนกันไป เพื่อง่ายต่อการจัดการและควรศึกษาเรียนรู้ จากผู้รู้ อย่างเช่น เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ หรือเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นของทางมหาวิทยาลัย
คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ที่เห็นมักไม่มีพื้นฐานทางการเกษตรมาก่อน เพราะคนที่จบมาโดยตรงก็มักจะ คิดว่าตนเองเรียนมาแล้วถือว่าตัวเองรู้มาก พอไปทำจริงก็ไม่สำเร็จ แต่คนที่ไม่มีความรู้มาก่อน เขาก็จะขวนขวายไปศึกษา เรียนรู้อย่างจริงจัง การเกษตรไม่ได้เกี่ยวกับการปลูกเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักเรื่องการตลาด การวางแผนการผลิต หลักเศรษฐศาสตร์การทำบัญชีรายรับรายจ่าย รู้จักการเจรจาต่อรอง บางคนปลูกอย่างเดียวแตขายไม่เป็น ก็ไม่ประสบความสำเร็จ