Home Editor's Picks ล่ามไทย ยุพดี พงษ์นนทกุล ที่รับงานรัฐบาลออสเตรเลีย

ล่ามไทย ยุพดี พงษ์นนทกุล ที่รับงานรัฐบาลออสเตรเลีย

by ChaYen
NAATI

ล่ามไทย ยุพดี พงษ์นนทกุล ที่รับงานรัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากสำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนเลขานุการ (YWCA) และมองเห็นว่าตนเองเป็นคนที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงย้ายมาเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

เรียนจบชั้นเรียนภาษาก็เข้าเรียน TAFE ใน Course Certificate in Management และเรียนต่อ TAFE ใน Course Advanced Diploma in Asia-Pacific Marketing หลังจากนั้นก็มาจบการศึกษา ระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย UTS ในสาขาการตลาดและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่เรียนอยู่นั้นก็มีความสนใจและคิดอยากจะเป็นล่ามอยู่ตลอด

พอเรียนจบก็เลยมาเรียนเอา Statement in Interpreting and Translating จาก TAFE แล้วจึงไปสอบเพื่อที่จะเอาคุณวุฒิล่ามจาก National Accreditation Authority for Translators and Interpreters หรือ (NAATI) จนทำให้เธอได้ทำงานในสายอาชีพล่ามที่เธอต้องการนั่นเอง

Naati

ก่อนอื่นเลย NAATI คืออะไรครับ

NAATI คือ หน่วยงานกลางของรัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียว ที่เป็นศูนย์กลางการจัดสอบเพื่อให้คุณวุฒิ กับล่ามและนักแปล ส่วนการที่จะได้ใบของ NAATI มาได้นั้นเราก็ต้องไปสอบ ซึ่งข้อสอบจะค่อนข้างยาก ฉะนั้นคนส่วนมากก็จะต้องไปเรียนก่อน ส่วนของดิฉัน ก็สมัครเรียนคอร์สการเป็นล่ามที่ TAFE เรียนเรื่องจรรยาบรรณของล่าม รวมทั้งเรื่องของการแปล กับอาจารย์ทั้งที่เป็นคนออสเตรเลีย และคนไทยมาสอน พอเรียนจบก็ไปสอบกับทาง NAATI

ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองหลวงของทุกรัฐ ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งค่าสอบขึ้นอยู่ที่ราคา $350-$850 เหรียญ แล้วแต่ว่าคนที่สมัครสอบเป็นคนที่นี่หรือเปล่า นอกเหนือจากนั้นทาง NAATI บางครั้งจะมีเปิดสอน Workshop สอนเทคนิคสำหรับผู้ที่จะเตรียมตัวสอบเป็นล่ามหรือนักแปลด้วย NAATI ยังเป็นศูนย์กลางสำหรับบุคคลหรือหน่วยงาน ที่ต้องการหาล่ามหรือนักแปลที่มีคุณวุฒิ ซึ่งเขาสามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ของ NAATI ได้ค่ะ

งานแรกที่ได้ทำหลังจากสอบ NAATI ได้คืออะไร

หลังจากสอบผ่านเป็นล่าม และได้มีชื่อในอยู่ในรายนามล่ามกับ NAATI ก็มีทางบริษัทเอเจนซีล่ามติดต่อเข้ามา ซึ่งพวกเอเจนซี่พวกนี้ จะติดต่อเข้ามาหาเราเอง งานที่ทำนี่ก็ทั้งของรัฐบาล และของเอกชน Medical Centre กายภาพบำบัด จิตแพทย์ บริษัทประกัน งานคดีความทั้งจากสำนักงานทนายและทางศาล

นอกจากรับงานนอกจาก เอเจนซี่เอกชนแล้วก็มีหลายหน่วยงานนะคะ ที่เป็นของรัฐบาลให้ไปทำหน้าที่อย่างเช่น TIS (Translating and Interpreting Services) หน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับอิมมิเกรชั่น ในแผนกของ The Department of Immigration’s Official Language Services Division สำหรับหน่วยงานอื่นก็มี Centre Link, Refugee Review Tribunal, ตำรวจสันติบาลกลาง, ตำรวจนิวเซาท์เวลล์, ศาลท้องถิ่น, ศาลฎีกา และที่ได้ไปบ่อยที่สุดก็คือ ศาลครอบครัว ค่ะ

ยุพดี พงษ์นนทกุล

“ข้อแรกจะต้องเก็บข้อมูลของลูกค้าไม่เอาไปเปิดเผย ข้อสองห้ามเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาด บางครั้งเราอยากช่วยใจจะขาด แต่ก็ต้องรู้หน้าที่ของเราว่ามีหน้าที่แค่แปลคำพูดในสิ่งที่ได้รับฟัง เรามีหน้าที่แปล ก็ต้องแปล เขาพูดคำหยาบ เราก็ต้องแปลเป็นคำหยาบ”.

งานที่ได้เข้าไปทำส่วนมากจะเป็นประเภทไหน

ตั้งแต่ที่ ล่ามไทย ยุพดี ทำมา 12 ปี เคสที่เจอบ่อยที่สุด คือไปช่วยตำรวจ และช่วยงานคดีความในศาล ซึ่งการขึ้นศาลแต่ละครั้ง ถ้าเราเป็นล่ามในการทำคำให้การ เขาจะพยายามไม่ใช้ล่ามคนเดียวกันในการขึ้นศาลของคดีนั้น เพราะทางศาลเกรงว่าเมื่อเราทราบข้อมูล จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แล้วอาจจะเกิดความสงสารความเห็นใจ แล้วอาจให้ความช่วยเหลือกันได้

แต่ถ้าสมมุติว่าเขาหาล่ามไม่ได้เลย เขาก็ต้องไปขออนุญาตผู้พิพากษา กับทนายความของฝ่ายตรงข้ามก่อน ถ้าไม่มีใครคัดค้าน ก็สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ แต่ถ้ามีผู้คัดค้าน คดีนั้นก็ต้องรอจนกว่าจะหาล่ามคนใหม่ได้

คุณสมบัติของล่ามที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

ข้อแรกจะต้องเก็บข้อมูลของลูกค้า ไม่เอาไปเปิดเผย ข้อสองห้ามเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาด บางครั้งเราอยากช่วยใจจะขาด แต่ก็ต้องรู้หน้าที่ของเราว่ามีหน้าที่แค่แปลคำพูดในสิ่งที่ได้รับฟัง เรามีหน้าที่แปล ก็ต้องแปล เขาพูดคำหยาบ เราก็ต้องแปลเป็นคำหยาบ เพราะตรงนี้ทางศาลและคณะลูกขุน จะสามารถสื่อความหมายถึงพื้นฐานทางการศึกษาได้เป็นต้น ข้อต่อมาต้องไม่ดูถูกคนอื่น ไม่ไปพิพากษาหรือตัดสินคนอื่น และสุดท้ายข้อนี้เป็นกฎทองเลย คือ เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลหรือเรื่องราวที่เราไปเกี่ยวข้องนั้นๆ

ยุพดี พงษ์นนทกุล

ลักษณะของคนที่จะมาเป็นล่ามจะต้องเป็นอย่างไร

ต้องมีพื้นฐานภาษาที่ดีมาก่อน ภาษานี่สำคัญมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต้องฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เปิดโลกทัศน์ เปิดใจให้กว้าง ส่วนตัวดิฉันเองเป็นคนชอบวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยเลือกงานสายนี้ ข้อต่อมาคนเป็นล่ามจะต้อง เป็นนักฟังที่ดี มีทักษะในการฟัง รับรู้ และเข้าใจในสิ่งที่ได้รับฟังมาก มันจะมากกว่าการใช้หูฟัง เพราะต้องใช้ทั้งตาและใจด้วย ซึ่งต้องมีสมาธิเป็นอย่างมาก และต้องมีอัธยาศัยดี เป็นมิตรกับคน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักการวางตัวด้วย เพราะว่าล่ามไม่สมควร ให้ความสนิทสนมกับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมากเกินไป เพราะอาจมีผลกับงาน

สิ่งไหนที่ได้รับจากอาชีพนี้นอกเหนือจากตัวเงิน

งานล่ามบางครั้งก็ค่อนข้างเครียด ถึงแม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนที่ดี แต่นอกจากได้ค่าของเงินแล้ว มันได้คุณค่าทางใจด้วย เพราะเหมือนกับเราได้ออกไปช่วยเหลือคน ถ้าเราไม่ไปช่วยเขา แล้วใครจะมาช่วยเขาล่ะ โดยเฉพาะคนไทยด้วยกัน ซึ่งบางคนน่าสงสารมาก บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ยิ่งพูดภาษาไม่ได้เขา ก็จะรู้สึกเหมือนเสียเปรียบในเชิง

ซึ่งในการทำงานคดีความในศาล จะเป็นตอนที่รู้สึกกดดันมากที่สุด เพราะจะมีการซักฟอกปากพยา นจากฝ่ายตรงข้ามในศาล มีสายตาหลายสิบคู่ จับตาดูเราอยู่ ทั้งจากคณะลูกขุน เจ้าหน้าที่ทางกฎหมายของทุกฝ่าย และจากสาธารณะชน หรือตัวแทนสื่อ แต่เราก็ยึดหน้าที่และทำให้ดีที่สุดค่ะ

Naati translation

มีการเตรียมตัวก่อนไปทำงานบ้างมั้ย

ก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากค่ะ นอกจากว่าเป็นงานที่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะ อย่างเช่นทางการแพทย์ ก็อาจจะต้องเตรียมตัวนิดหน่อย ส่วนศัพท์เฉพาะทางเขาจะมีคอร์สให้เราไปเรียน แต่ส่วนมากจะมีล่ามที่ ลงทะเบียนอยู่กับโรงพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งเขาสามารถเรียกได้เลย ส่วนดิฉันก็เคยรับงานด้านนี้มาบ้าง บางทีเจอศัพท์เฉพาะทางที่เราไม่รู้ เราก็ต้องไม่อายที่จะถามหมอว่า คำนี้หมายถึงอะไร

แม้ว่าจะอยู่ในชั้นศาลหรือที่ไหนก็ตาม จะมั่วไปไม่ได้เด็ดขาด พอเขาอธิบาย เราก็มาแปลอีกทีค่ะ นอกจากนั้นก็ต้องนอนหลับให้เพียงพอซึ่งจะส่งผลไปถึงสมาธิในการทำงานของวันรุ่งขึ้น และหลายครั้งก็ต้องเข้าอินเตอร์เน็ตตรวจสอบสถานที่ที่จะไปทำงานในวันรุ่งขึ้นเพื่อมั่นใจว่าเราจะไปถูกที่หมายแน่

Related Articles