Home บทความอยู่ออส อยากมีสัตว์เลี้ยง ในออสเตรเลีย ต้องทำไงบ้าง?

อยากมีสัตว์เลี้ยง ในออสเตรเลีย ต้องทำไงบ้าง?

by ChaYen
อยากมีสัตว์เลี้ยง

อยากมีสัตว์เลี้ยง ด้วยความที่ตัวเราอยู่ต่างบ้านต่างเมือง อาจจะไม่อบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัวของเราที่เมืองไทย มีเหงาบ้างเป็นธรรมดา ทางออกอย่างหนึ่งในการช่วยแก้เหงาและให้รู้สึกเหมือนเราได้อยู่กับครอบครัว คือ การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน

ให้เราได้กลับบ้านมาดูแลเค้า เอาใจใส่เค้า ทำให้การกลับบ้านหลังเลิกงานอันเหน็ดเหนื่อยมีความหมายมากขึ้น นอกจากนี้การมีสัตว์เลี้ยงยังมีส่วนช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีทั้งจิตใจและร่างกาย และทำให้เข้ากับสังคมง่ายขึ้นด้วย

เรามาดูกันว่า การจะมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในความดูแลของเราที่ประเทศออสเตรเลียจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง มีกฏระเบียบอะไรที่เราต้องรู้และปฏิบัติตาม มีองค์กรหรือร้านค้าใดที่แหล่งข้อมูลและให้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกับบ้านเราที่เมืองไทยอย่างสิ้นเชิง

อย่างเมื่อเริ่มต้นอยากจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่บ้าน หลายคนอาจจะคิดว่า ก็แค่เดินไปเลือกหาและซื้อสัตว์เลี้ยงที่เราถูกใจที่ร้านขายสัตว์เลี้ยง (Pet Store) แต่สำหรับที่ออสเตรเลียนี้มีอีกวิธีหนึ่งที่ควรทำคือ การติดต่อขอรับอุปการะเลี้ยงสัตว์จากองค์กร RSPCA ที่มีอยู่ทั่วพื้นที่ทุกรัฐเป็นเครือข่ายหลักที่ดูแลด้านงานสังคมสงเคราะห์สำหรับสัตว์ทั่วประเทศออสเตรเลีย

RSPCA Australia (Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals)

องค์กรนี้อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลออสเตรเลีย ดำเนินงานโดยเครือข่ายบริษัทเอกชนในแต่ละรัฐทั้งแปดแห่ง และอาศัยรายได้จากการรับบริจาคและสปอนเซอร์ จุดประสงค์เพื่อให้การดูแลและปกป้องสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปในบ้าน ในฟาร์มปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ป้องกันและต่อต้านการทารุณสัตว์ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการดูแลและปกป้องสัตว์ รวมทั้งช่วยผลักดันการแก้ไขกฏระเบียบและการตรวจจับผู้กระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ RSPCA Inspectors ซึ่งมีอำนาจเทียบเท่ากับตำรวจ

RSPCA เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1871 ในรัฐวิคตอเรีย จากการประชุมกันเรื่องการดูแลรักษาม้าที่ป่วยและนำไปสู่จุดประสงค์ของการดูแลและปกป้องการทารุณสัตว์ทุกชนิด รัฐอื่นๆ ได้ทะยอยจัดตั้งองค์กร ของตัวเองและเข้าร่วมเป็นเครือข่ายจนครบทั้งแปดรัฐในปี 1965 ภายใต้การกำกับดูแลของ Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1981

RSPCA

หน้าที่หลักของ RSPCA เป็นสถานสงเคราะห์

เปรียบเสมือนสถานที่พักพิงของสัตว์ที่ได้รับการช่วยชีวิต รับการอุปการะเลี้ยงดูรับการปรับพฤติกรรม และรอรับการหาบ้านใหม่ สำหรับสัตว์ที่บาดเจ็บ กำพร้า พลัดหลง ถูกทอดทิ้ง และต้องการที่พักชั่วคราวทั่วออสเตรเลียสถานสงเคราะห์ ต้องรับสัตว์เข้ามาใหม่มากกว่า 130,000 ตัวทุกปี ส่วนใหญ่คือ หมาและแมว รวมทั้งให้การช่วยเหลือม้า ปศุสัตว์ และอนุรักษ์สัตว์ป่าหลากหลายชนิด

มีสัตว์ที่สวยงามและน่ารักมากมายที่สถานสงเคราะห์ ทั้งหมดได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเข้มงวด ตรวจสภาพอารมณ์และฝึกให้เชื่อง เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อนกับเรา สัตว์เหล่านี้สมควรได้รับโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเช่นกันเหมือนกับเรา เมื่ออยากจะมีสัตว์เลี้ยงหรือต้องการซื้อสัตว์เลี้ยง ขอให้มาเยี่ยมชมที่สถานสงเคราะห์ ใกล้บ้านท่านก่อน

เป็นสถานที่ค้นหาสัตว์เลี้ยงที่ต้องการรับการอุปการะ

เมื่อเราตัดสินใจที่จะมีสัตว์เลี้ยงโดยการอุปการะ (Adoption) นอกจากว่าเข้าไปติดต่อโดยตรงกับสถานสงเคราะห์ ใกล้บ้าน เราสามารถใช้บริการเว็บไซต์ Adopt a Pet (www.adoptapet.com.au) ซึ่งเป็นของ สถานสงเคราะห์ โดยตรง เราสามารถค้นหาประเภทของสัตว์เลี้ยง สายพันธุ์ สี เพศ อายุ เขตพื้นที่ หรือแม้แต่ชื่อของสัตว์เลี้ยงตัวนั้นนั้น

โดยเราสามารถศึกษารายละเอียดของสัตว์แต่ละตัวอย่างละเอียด เช่น ประวัติสุขภาพ การฉีดวัคซีน รักเด็กเล็กหรือเปล่า ทำหมันหรือยัง รวมทั้งที่อยู่ที่ต้องติดต่อ เงื่อนไขในการอุปการะ อาจมีค่าใช้จ่าย อาจมีการตรวจสอบบ้านที่พักอาศัยว่าเหมาะสมกับสัตว์หรือไม่

กำหนดนโยบายและหลักการสำหรับการอุปการะสัตว์เลี้ยงไว้ดังนี้

• หาบ้านให้สำหรับสัตว์ที่เหมาะสม สัตว์บางตัวไม่สามารถรับการอุปการะได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ พฤติกรรม และข้อกฏระเบียบอื่นๆ
• สถานสงเคราะห์ จะอนุมัติให้กับเฉพาะผู้ที่น่าเชื่อถือว่า มีความสามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูได้เป็นอย่างดี ตลอดอายุไขของสัตว์เลี้ยง
• สุนัขและแมวทุกตัวจาก สถานสงเคราะห์ จะต้องได้รับการทำหมันและฝังไมโครชิฟ ก่อนที่จะได้รับการอุปการะ สำหรับสัตว์ประเภทอื่นจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป
• สัตว์ทุกตัวจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพและพฤติกรรม และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ก􀃍ำหนดของแต่ละประเภทสัตว์
• สถานสงเคราะห์ ยินดีรับคืน สัตว์ที่ถูกส่งออกไปเพื่อการอุปการะเลี้ยงดู

อยากมีสัตว์เลี้ยง

ขั้นตอนการขอรับอุปการะสัตว์เลี้ยงจาก RSPCA

ในที่นี้จะให้รายละเอียดเน้นที่น้องสุนัขและน้องแมวเป็นหลัก ส่วนสัตว์ประเภทอื่นก็จะรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด สำหรับลูกสุนัขและลูกแมวมีข้อจำกัดอยู่ว่า ควรมีอายุ 8 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีโอกาสกินนมแม่อย่างเต็มที่จะช่วยให้ลุกสุนัขและลูกแมวมีสุขภาพแข็งแรงจากน้ำนมแม่ ขั้นตอนการติดต่อกับสถานสงเคราะห์ เพื่อขอรับอุปการะน้องสุนัขและน้องแมว มีดังนี้

1 ให้เวลากับตัวเองในการตัดสินใจเลือกสัตว์เลี้ยงที่เหมาะกับไลพ์สไตล์และครอบครัวของเรา สำหรับการเลือกสุนัขและแมวจะมีรหัสสีส้ม เขียว และน้ำเงิน (Lifestyle Colour Code: Orange, Green or Blue) ซึ่งจะแบ่งลักษณะนิสัยของสุนัขและแมวเป็นสามประเภทสามสี เพื่อให้เราสะดวกมากขึ้นในเลือกสุนัขและแมว

2 เมื่อเราสามารถระบุตัวสุนัขและแมวได้แล้ว ผู้ช่วยการอุปการะ (adoption assistant) จะให้คำปรึกษาและข้อมูลของน้องสุนัขและน้องแมวตัวนั้น ว่ามีประวัติอย่างไร ต้องการการดูแลอย่างไร ซึ่งขั้นตอนนี้เราควรเตรียมรูปถ่ายของบ้านที่พักอาศัยรวมทั้งสนามหลังบ้านถ้ามี เพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ประกอบการพิจารณา อาจจะมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวและสมาชิกสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่แล้วซึ่งบางคร้งต้องมีการนัดหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พบกับสัตว์เลี้ยงเดิมของเราด้วยทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าน้องสุนัขและน้องแมวจะได้บ้านใหม่ที่มีความสุขตลอดไป

3 แต่ละสถานสงเคราะห์ จะมีแบบฟอร์มให้กรอกคำขอรับอุปการะสัตว์เลี้ยง และจะต้องให้เรารอคอยเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นเวลาให้สงบใจและคิดทบทวนการตัดสินใจของเรา ว่าเรามีความพร้อมและต้องการจะรับอุปการะสัตว์เลี้ยงตัวนั้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพราะเห็นแล้วถูกอกถูกใจด้วยความน่ารักเท่านั้น

4 เจ้าหน้าที่จะทำการสัมภาษณ์เราเพื่อยืนยันอีกครั้ง หลังจากช่วงเวลา 24 ชั่วโมงในแต่ละรัฐ ก็มีกฏหมายข้อบังคับสำหรับการเลี้ยงสัตว์ต่างกัน ซึ่งสำหรับรัฐนิวเซาท์เวลล์สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.cityofsydney.nsw.gov.au/live/animals

อยากมีสัตว์เลี้ยง

ขั้นตอนแรกคือการแสดงความเป็นเจ้าของ จดทะเบียนสัตว์เลี้ยง (Register)

ผู้จดต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี ส่วนสัตว์เลี้ยงทั้งแมวและสุนัขต้องได้รับการฝังชิปไมโครชิปก่อนอายุครบ 12 สัปดาห์ หรือ หลังจากซื้อหรือรับมาเลี้ยงและต้องมีการจดทะเบียนก่อนสัตว์เลี้ยงอายุครบ 6 เดือน สุนัขและแมวทุกตัวที่อายุมากกว่า12 สัปดาห์ต้องมีป้ายชื่อและเบอร์โทรติดต่อเจ้าของ เผื่อเวลาสัตว์เลี้ยงพลัดหลงหรือสูญหายไป และเมื่อสัตว์เลี้ยงคุณตายลง หรือมีการเปลี่ยนเจ้าของ ก็ต้องมีการแจ้งเพื่ออัพเดทข้อมูลเช่นกัน

ในการจดทะเบียนนั้น สามารถติดต่อไปยัง City of Sydney Pet Registration Officer GPO Box 1591 Sydney NSW 2001 หรืออีเมลล์ council@cityofsydney.nsw.gov.au
• ค่าธรรมเนียมปกติสำหรับสุนัขหรือแมวที่ยังไม่ได้คุมกำเนิด $182
• ค่าคุมกำเนิดสุนัขหรือแมว $49
• ค่าปศุสัตว์ $49
สำหรับผู้สูงอายุ สิทธิลดหย่อนได้เล็กน้อย รวมถึงมียกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีที่มีการจดทะเบียนสุนัขเพื่อช่วยเหลือบุคคลพิการต่างๆ และเมื่อกฎหมายกำหนดให้มีการจดทะเบียน คุณจึงต้องรู้ว่า หากไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด ก็มีค่าปรับเช่นกัน

ค่าปรับต่างๆ
• ละเลยการฝังไมโครชิป $165
• ไม่ได้จดทะเบียนสัตว์เลี้ยงตามกำหนด $165
• สุนัขไม่มีป้ายห้อยคอและข้อมูลติดต่อ $165
• ปล่อยสุนัขในที่สาธารณะโดยไม่มีสายจูง $220
• เลี้ยงสุนัขในที่ต้องห้าม $330
• ทอดทิ้งสุนัข $275
• สุนัขมีการแสดงอาการดุร้าย หรือทำร้ายผู้อื่น $550
• เลี้ยงแมวในที่ต้องห้าม $110
• แมวไม่มีป้ายระบุตัวตน $110
• ไม่แจ้งย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนเจ้าของ $165
• ไม่มีที่อยู่สำหรับสัตว์เลี้ยง $550
• มีสัตว์อันตรายไว้ในครอบครองหรือมีลูกสุนัขสายพันธุ์ต้องห้ามเกิดแล้วไม่ได้แจ้งจดทะเบียน $1,760

“เคยเห็นกันใช่ไหมว่า เวลาที่เราปล่อยสุนัขหรือแมวออกไปเดินเล่น เรามักจะเห็นเจ้าตูบเจ้าเหมียวของเราไปเล็มหญ้าในสวนสาธารณะกินเป็นประจำ ซึ่งที่เรารู้ๆกันก็คือ เพราะสัตว์เหล่านั้นป่วย แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะการกินหญ้าถือเป็นการเรียกร้องทางธรรมชาติของร่างกายสัตว์ เนื่องจากหญ้าช่วยทำความสะอาดระบบภายในของสัตว์ได้ๆ”

ChaYen

ทั้งนี้ หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงยังเพิกเฉย ไม่มีการดำเนินการแก้ไข ก็ยังจะมีค่าปรับไปอีก ตั้งแต่ $275 จนถึง $880 และทางเคาน์ซิลมีสิทธิ์ที่จะกักขังสัตว์เลี้ยงของคุณกรณีที่เกิดมีการทำร้ายบุคคลหรือสัตว์อื่น

ถ้าหากว่าเมื่อไม่สามารถหาสุนัขหรือแมวเพื่อการอุปการะจาก RSPCA ที่เหมาะสมกับเราได้ ทาง เจ้าหน้าที่ก็มีข้อแนะนำการเลือกซื้อสุนัขและแมว ดังนี้
• ต้องแน่ใจก่อนว่าเราสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของน้องสุนัขน้องแมวได้ตลอดอายุขัยของเค้า ให้พิจารณาสายพันธุ์ที่เหมาะกับไลพ์สไตล์ของเรา
• ศึกษาคู่มือการเลือกสุนัข (www.rspca.org.au/sites/default/files/ website/Adopt-aet/Smart_Puppy_Buyers_Guide_Oct2012_Web.pdf)
• หรือคู่มือการเลือกซื้อแมว (www.rspca.org.au/sites/default/files/website/Adopt-a-pet/Smart_Kitten_Cat_Buyers_Guide_July2013_web.pdf)
• เยี่ยมชมสถานที่เพาะเลี้ยงและสอบถามข้อมูล

สิ่งที่ไม่ควรทำ

• อย่าซื้อสุนัขหรือแมวจากโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ หรือจากร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยที่ไม่ได้เยี่ยมชมสถานที่เพาะเลี้ยงและสอบถามข้อมูลด้วยตนเอง
• อย่าซื้อสุนัขหรือแมวเพียงเพราะบังเอิญหรือแรงจูงใจจากโฆษณา ต้องวางแผนและพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน
• อย่าต่อต้านสุนัขหรือแมวพันธุ์ทางหรือลูกผสม เพราะเค้าก็สามารถเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดี และเป็นเพื่อนกับเราได้เช่นกัน

อยากมีสัตว์เลี้ยง

การทารุณสัตว์ (Animal Cruelty)

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรายังพบเห็นการทารุณสัตว์ในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในออสเตรเลียความหมายของการทารุณสัตว์ที่ระบุไว้ในกฏหมายคุ้มครองสัตว์มีความหมายครอบคุมทั้งทางกายและจิตใจของสัตว์ มีรายละเอียดดังนี้
• ทรมาน หรือ ทุบตีสัตว์
• จำกัดพื้นที่ หรือ ขนส่งเคลื่อนย้ายสัตว์ ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมตามที่ระบุในกฏระเบียบ
• ฆ่าสัตว์ด้วยวิธีการที่โหดร้าย ขาดมนุษยธรรม
• บกพร่องต่อการให้อาหารและน้ำที่เพียงพอ
• บกพร่องต่อการให้การรักษาเมื่อบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย
• บกพร่องต่อการให้ที่พักอาศัยที่เหมาะสม

หากมีการพบเห็นหรือมีเบาะแสการทารุณสัตว์ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของ RSCPAในพื้นที่ จะมีเจ้าหน้าที่ RSPCA Inspector ที่จะออกไปตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือสัตว์ และจับผู้กระทำผิด โดยมีอำนาจตามกฏหมายสามารถบุกเข้าตรวจค้นบ้าน หาหลักฐาน รวมทั้งสั่งปรับทันที ผู้กระทำผิดอาจมีโทษถึงติดคุกได้

อยากมีสัตว์เลี้ยง

สัตว์บาดเจ็บ (Injured Animals)

การดูแลสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเรื่องสำคัญมากหากสัตว์เลี้ยงของเราได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ต้องนำไปส่งหรือติดต่อโรงพยาบาลสัตว์หรือสถานสงเคราะห์ ใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาหรือรับคำแนะนำในการดูแลหากเราไปพบสัตว์ป่าเข้า โดยเค้าอาจจะบาดเจ็บหรือกำพร้า ให้รีบติดต่อสัตวแพทย์สถานสงเคราะห์ หรือ หน่วยงานดูแลสัตว์ป่าในพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เค้าได้รับการช่วยเหลือที่ถูกวิธี เนื่องจากว่าสัตว์ป่าจะมีอาการเครียดและอาจเป็นอันตรายกับตัวเราเอง หากจำเป็นต้องจัดการกับสัตว์ป่าที่ต้องการความช่วยเหลือ มีคำแนะนำดังนี้

• หลืกเลี่ยงเสียงดังที่จะรบกวนสัตว์บาดเจ็บ
• อย่าพยายามให้อาหาร หากไม่มีความรู้หรือได้รับการฝึกอบรมมา
• ตรวจสอบว่ามีลูกสัตว์ตัวอื่นอยู่บริเวณข้างเคียงหรือในกระเป๋าหน้าท้องหรือไม่ หากมั่นใจว่าปลอดภัย 100% สำหรับตัวเรา
• ไม่ควรจะเป็นเจ้าของสัตว์ป่า และระมัดระวังสัตว์เลี้ยงของเราจะไปทำร้ายสัตว์ป่า หรือจะถูกทำร้ายโดยสัตว์ป่า

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า การจะเลี้ยงสัตว์นั้นมีข้อกำหนดและระเบียบบังคับมากมาย นั่นเพราะ สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่า ก็เป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจเช่นเดียวกันกับมนุษย์ ย่อมมีความหิว มีการป่วยและมีความเจ็บปวดอันเกิดจากการกระทำมนุษย์ได้ แต่เพียงแค่เขาพูดไม่ได้เท่านั้นเอง ดังนั้น คุณจึงควรที่จะตัดสินใจให้ดีก่อนว่า คุณมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะรับอีกหนึ่งชีวิต
มาดูแล

อยากมีสัตว์เลี้ยง

รู้หรือไม่ว่า…สัตว์เลี้ยงกินหญ้า ใช่ว่ามันจะป่วยเสมอไป

เคยเห็นกันใช่ไหมว่า เวลาที่เราปล่อยสุนัขหรือแมวออกไปเดินเล่น เรามักจะเห็นเจ้าตูบเจ้าเหมียวของเราไปเล็มหญ้าในสวนสาธารณะกินเป็นประจำ ซึ่งที่เรารู้ๆกันก็คือ เพราะสัตว์เหล่านั้นป่วย แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะการกินหญ้าถือเป็นการเรียกร้องทางธรรมชาติของร่างกายสัตว์

เนื่องจากหญ้าช่วยทำความสะอาดระบบภายในของสัตว์ได้ เช่น ช่วยการขับเมือกหรือน้ำดีส่วนเกิน รวมทั้งสิ่งสกปรกต่างๆออกจากร่างกาย และหญ้าบางชนิดช่วยกำจัดพยาธิในลำไส้ได้ หรือบางทีก็เติมวิตามินและแร่ธาตุให้ร่างกายของสัตว์ โดยส่วนใหญ่มักเป็นหญ้าที่มีลักษณะใบเรียวแหลมเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สัตว์กิน เนื่องจากใบหญ้ารูปแบบนี้จะช่วยทำความสะอาดได้ดีที่สุดและยังสามารถกำจัดพยาธิได้ดีที่สุดอีกด้วย

ระวังก่อนฉีดยาคุม

พาไปฉีดยาคุม ไม่ควรฉีดติดต่อกันนานกว่า 2 เดือน เพราะการฉีดยาคุมทำให้มดลูกของสัตว์เลี้ยงอักเสบ เนื่องจากไม่มีการขับประจำเดือนออกมา และนั่นอาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้

อาหารสำเร็จรูปดีที่สุด

อยากมีสัตว์เลี้ยง

บางคนคิดว่าอาหารเม็ดของสุนัขนั้นไม่อร่อย และเจ้าของกินอย่างไร ก็ให้น้องหมากินอย่างนั้นดีกว่า แต่ความจริงแล้ว รู้ไหมว่า อาหารที่คนเรากินนั้น มีปริมาณโซเดียมมากกว่าอาหารสุนัขหลายเท่านั้น และเสี่ยงที่จะทำให้น้องหมาเกิดโรคไตอีกด้วย เพราะระบบการขับเกลือของน้องมานั้นด้อยกว่าของคนมาก หากรักน้องหมาจริงก็ควรให้เขากินอาหารของเขาเถอะ

อาหารเร่งสี ตัวอันตราย

สำหรับคนรักปลา มักคงได้ยินสรรพคุณของอาหารปลายี่ห้อต่างๆ เร่งสี เร่งวุ้น เร่งโต แต่รู้หรือไม่ว่า ผลของการเร่งเหล่านี้จะก่อนให้เกิดสุขภาพร่างกายที่แย่กับปลา เพราะอาหารเหล่านี้มีสารอาหารน้อย และผสมสารเคมีและสีซะส่วนมาก สังเกตุได้ง่ายๆ ว่าขี้ปลาอาจมีสีติดออกมาด้วย ถ้าเป็นไปได้ เลือกซื้ออาหารที่คุณภาพดีหน่อย แต่อาจราคาสูงหน่อย และควรมีการระบุเรื่องการปรับสมดุลร่างกายของปลาดีกว่า

อยากมีสัตว์เลี้ยง

อาบน้ำน้องหมาด้วยแชมพู

เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างมาก เพราะแม้ว่าแชมพูของคนจะมีกลิ่นหอมและสามารถขจัดความสกปรกได้ แต่รู้ไหมว่า ผิวหนังของน้องหมานั้นบางและเซนซิทีฟกับสารเคมีมากกว่าผิวของคนเรามากนัก นอกจากจะไม่เป็นการบำรุงขนน้องหมาแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังเพราะถูกสารเคมีต่างๆ ในแชมพูกัดด้วย

ทริคเล็กๆ น้อยๆ ป้องกันน้องหมากัดเฟอร์นิเจอร์

นั่นคือการเอาน้ำมันหอมระเหย หรือน้ำมันอโรมาเทอราพี เลือกกลิ่นที่ค่อนข้างฉุนหรือแรงเล็กน้อย มาผสมน้ำใส่ฟ็อกกี้แล้วฉีด หรือเอาพู่กันทาแต้มตามขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ โซฟา หรือขาตู้ขาเตียง เท่านี้ช่วยได้ เพราะเจ้าสัตว์เลี้ยงของเราประสาทสัมผัสจะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้หอมเหมือนที่เรารู้สึก และเราควรซื้อกระดูก อาหารแท่ง หรือของเล่นสำหรับน้องหมาให้เขาไว้แทะเล่นแทนดีกว่า

ที่มา
http://animals.spokedark.tv/2013/02/28/eat-grass/#.U4rmg_m1ayp
http://rspca.org.au

Related Articles