ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องใกล้ตัวของคนไทยในซิดนีย์แล้ว คงไม่มีเรื่องไหนที่จะสำคัญกับเรามากเท่า อาหารการกินอีกแล้ว ด้วยเวลาที่มีค่อนข้างจำกัด และสถานที่ไม่เอื้ออำนวยจึงไม่สะดวกที่ จะทำกับข้าวรับประทานเอง อาหารกล่อง จึงเป็นที่นิยม
ใครที่ทำงานร้านอาหารก็สบายหน่อย ร้านไหนเจ้าของใจดีก็ได้กับข้าวมาทานที่บ้าน หรือเอาไปแบ่งเพื่อนที่โรงเรียนได้ แต่ถ้าทำอาชีพอื่นก็ลำบากหน่อย ก็ต้องหาข้าวกินกันเอง เพราะถ้าซื้อในร้านอาหารทุกวัน เงินก็คงไม่เหลือเก็บแน่ ฉะนั้นผลลัพธ์ก็เลยมาลงเอยที่เจ้า อาหารกล่อง ที่มีให้เลือกตั้งแต่อาหารง่ายๆ อย่างกระเพราไก่ไข่ดาว น้ำพริกสารพัดชนิด ไปจนถึงขนมหวาน หาทานยากก็มีให้เลือกซื้อกันตามร้านชำแถวไทยทาวน์
แล้วผู้อ่านเคยคิดสงสัยกันบ้างไหมว่า เจ้าของความอร่อยฉบับกล่อง Take Away เหล่านี้เขาคือใครกัน หน้าตาเป็นอย่างไร บางคนอาจชื่นชมในผลงาน อยากเจอตัวเป็นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปเจอได้ที่ไหน ทั้งๆ ที่พวกคุณอาจเดินผ่านพวกเขาเหล่านี้กันมาบ้างแล้ว

ทองหยิบ พานทิม (คุณจุก)
ขอเปิดตัวด้วยคุณป้าจุกที่ถือเป็นรุ่นบุกเบิก อาหารกล่อง ในไทยทาวน์ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว
ขอเปิดตัวด้วยคุณป้าจุก ที่ถือเป็นรุ่นบุกเบิกอาหารกล่องในไทยทาวน์ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว คุณป้าท่านนี้มีหมัดเด็ดมัดใจลูกค้า ด้วยผัดเผ็ดปลาดุก แกงคั่วกลิ้ง และห่อหมกปลาที่ทำออกมาขายแบบวันต่อวัน ทีละไม่มากเหมือนเจ้าอื่น
ซึ่งจะทำออกมาส่งแต่ละร้านอย่างละ 6-8 กล่อง เพื่อต้องการควบคุมรสชาติให้เหมือนเดิมมากที่สุด ทำตอนเช้าตอนบ่ายก็เอาไปส่ง ไม่ทำแล้วทิ้งไว้ค้างคืน และที่สำคัญอาหารของคุณป้าจะไม่ใส่ผัก จะใส่แต่เครื่องเทศ เพราะใส่ผักสดลงไปมันจะทำให้เสียง่าย
สูตรอาหารที่ทำขายก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาจากที่ไหน แต่ใช้ครูพักลักจำ เรียนรู้สูตรจากคุณแม่บ้าง ญาติๆ บ้างหรือไม่บางครั้งไปทานอาหารอร่อยมา ก็ลองมาดัดแปลงสูตรให้อร่อยเหมือนเขา และหน้าร้อนอย่างนี้ป้าจุกบอกต้องลองข้าวเหนียวมะม่วง เมนูใหม่ล่าสุดที่ทานแล้วชื่นใจอย่าบอกใคร
ทุกวันนี้ป้าจุกมีแฟนคลับมากมายตั้งแต่คนไทยรุ่นเก่า ที่อยู่ตามนอกเมืองไปจนถึงนักเรียนไทยหน้าเก่าและใหม่ที่คอยอุดหนุนเสมอมา ตัวเธอเองก็อยากขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจและคำติชม ซึ่งคุณป้าก็ขอรับไว้ด้วยความยินดีเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป “ทุกวันนี้มีคนโทรมาชม มาต่อว่าก็มี เราทำอาหารขายก็อย่าทนงตนว่าเราทำอร่อยทุกอย่าง จริงๆ แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ร้อยปากร้อยลิ้น ยังไงคนเราก็ชอบไม่เหมือนกัน” และทิ้งท้ายสำหรับลูกค้าทุกคนที่ซื้ออาหารกล่องจากคุณป้า ว่าคุณทุกคนมีส่วนช่วยทำนุบำรุงพุทธศาสนาทั้งสิ้น เพราะเงินรายได้ส่วนหนึ่งเธอมักจะเอาไปทำบุญ ทอดกฐิน ตามวัดที่ขาดแคลนปัจจัยในเมืองไทยทุกๆ ปี

ทิพรัตน์ สุภาวะ (คุณทิพย์)
ตะโก้ ขนมต้ม เปียกปูน ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวต่างๆ ขนมเทียน ลูกชุบ และโดยเฉพาะขนมเปี๊ยะไข่เค็มที่เป็นที่นิยมมาก
หากเป็นลูกค้าประจำของขนมไทยพี่ทิพย์แล้ว ก็มักจะคุ้นตากับขนมสดต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้งตะโก้ ขนมต้ม เปียกปูน ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวต่างๆ ขนมเทียน ลูกชุบ และโดยเฉพาะขนมเปี๊ยะไข่เค็มที่เป็นที่นิยมมาก คุณทิพย์เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นที่มาทำเพราะช่วยน้องสาวทำขนมขาย(คุณอ้วน ขนมไทยเจ้าแรกที่ทำใส่กล่องขาย) ตั้งแต่ปี 1999 ได้เห็นอะไรเยอะจากน้องสาว แล้วจึงเริ่มทำขายเองทีละอย่าง สองอย่าง ขายกันตั้งแต่สมัยอาหารกล่องยังราคาแค่ 2 เหรียญ
จนปัจจุบันกลายมาเป็น อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีพนักงานช่วยในการผลิต แล้วจึงมาทำร้านอาหารไทยทีหลังเพื่อใช้เลขที่ ABN ปิดฉลากขนมด้วย “ปัญหาที่เจอก็ไม่ค่อยมีอะไรนะคะ เพราะพี่ทำตามกฏหมายทุกอย่าง Label บอกส่วนประกอบต่าง วันหมดอายุก็ชัดเจน และโดยเฉพาะเรื่องความสะอาด พนักงานในร้านพี่โดนกดดันมาก เพราะต้องทำให้สะอาดอยู่เสมอ มันคือชีวิตเรา ถ้าทำไม่ดีติดคุกขึ้นมา หมดอนาคตเลย ส่วนเรื่องวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ต่างๆ อันไหนไม่มีก็สั่งซื้อจากเมืองไทยมาเลย”
คุณทิพย์บอกว่าอยากจะทำขนมไปเรื่อยๆ ไม่คิดเลิก เพราะยังสนุกที่จะทำอยู่ และมีสินค้าใหม่ที่อยากให้ลองชิมคือ ขนมจีบ ที่เพิ่งทำขายได้สักพักแล้ว แฟนคลับคนไหนที่ติดใจปลายจวักคุณทิพย์คงจะพลาดกันไม่ได้แล้ว
เราขอสดุดีความหาญกล้าให้กับแม่ค้าข้างกล่องทั้ง 9 ท่าน ซึ่งอาจเป็นแค่ผู้ผลิตบางส่วนที่ยอมสละเวลาและความสุขส่วนตัวเปิดเผยตัวตนและหน้าตาต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรก แบบไม่เคยมีปรากฏที่ไหนมาก่อน ทั้งๆ ที่เขาเหล่านี้บอกว่า การที่ออกสื่อในครั้งนี้มีความเสี่ยงทั้งตนเองและต่อยอดขายอาหารกล่องของพวกเขาก็ตาม.

สุพิชา ชัยชนะฉิมพลี (คุณนิด)
แม่ค้ากับข้าวกล่องท่านนี้มีดีกรีเคยไปโชว์ทำขนมไทยออกรายการ Food Safari ช่อง SBS มาแล้ว
แม่ค้ากับข้าวกล่องท่านนี้มีดีกรีเคยไปโชว์ทำขนมไทยออกรายการ Food Safari ช่อง SBS มาแล้ว คุณนิดคลุกคลีอยู่กับวงการอาหารที่ซิดนีย์มากว่า 18 ปี โดยเรียนรู้จากคุณแม่ และจากประสบการณ์ตรงที่เป็นคนชอบทำอาหารตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนคุณนิดก็เคยทำธุรกิจร้านอาหารเลยทำอาหารกล่องส่งตามร้านไทย แต่ตอนหลังก็ทำแค่อาหารกล่องอย่างเดียว
“ที่ส่งทุกวันนี้ มีแหนม ส้มตำ อาหารกล่องก็จะมี ข้าวกระเพรา ข้าวคลุกกะปิ ที่เหลือส่วนมากจะเป็นกับข้าวล้วน แกงคั่วหน่อไม้ดอง แกงส้มกระเพาะปลา แกงเขียวหวาน ลาบเหนือ ลาบอีสาน ตำขนุน ผัดเผ็ดปลาดุก ตอนนี้ทำส่งที่ร้านพรทิพย์ แม่เช็ง ลัคกี้ ส่วนที่แคบรามัตต้าจะทำขนมไทยส่งที่ร้านเอเชียน อิมพีเรียล อาหารแต่ละอย่างจะมีลูกค้าประจำอยู่ บางคนกินเพราะรู้จักเรา บางคนกินเพราะอาหารเราไม่เหมือนคนอื่น เช่น ลาบเหนือ ตำขนุน”
“หลายครั้งที่มีลูกค้าโทรมาหา ซึ่งมันก็มีทั้งชมทั้งตินะ เพราะว่าอาหารเนี่ย แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน แต่เราจะทำรสชาติที่เป็นกลางๆ ไว้ก่อน อย่างส้มตำ ถ้าเราทำทานเอง เราก็จะทำรสจัด เปรี้ยวมาก เผ็ดมาก ตามใจปากเรา แต่เมื่อเราทำขาย ก็ต้องทำรสชาติที่เป็นกลางๆ ทานได้ทุกคน ส่วนเรื่องของที่ใช้ทำ สมัยก่อนอย่างข่าก็จะเป็นแบบแห้ง มาเป็นแบบแช่แข็งก็มี แต่พอมา 10 ปีหลังๆ นี่ทุกอย่างง่ายขึ้น มีทุกอย่างเหมือนในเมืองไทย ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร”
“วางแผนว่าอีก 4-5 ปี อาจจะรีไทร์แล้ว แต่ว่าจะให้ลูกสาวมาทำแทนซึ่งตอนนี้ก็ช่วยกันอยู่ เขาทำเป็นหมดทุกอย่างแล้วค่ะ สุดท้ายขอขอบคุณลูกค้าทุกคนนะคะที่อุดหนุนและให้กำลังใจนะคะ มีอะไรอยากจะติชมหรือแนะนำ ก็บอกกันได้นะคะ ยินดีค่ะ”

นงลักษณ์ นุชทอง Masson (คุณหญิง)
อาหารที่ลงท้ายด้วย “ชาววัง” มักอร่อยเสมอ และขนมไทยชาววังของคุณหญิงก็ยังคงเป็นเช่นนั้น
จุดเริ่มต้นของความอร่อยนี้เริ่มจากความอยากทานขนมไทยของคุณหญิงเองในสมัยมาอยู่ซิดนีย์แรกๆ แต่หาซื้อไม่ได้ก็เลยทำขนมเองและได้แบ่งปันความอร่อยให้คนที่นี่ได้ลองทานกัน
จากทองหยิบ ทองหยอดที่อยากกินในตอนแรก ก็กลายมาเป็น ฝอยทอง พุทราจีนเชื่อม ข้าวเหนียวทุเรียน วุ้นกะทิ วุ้นสังขยา และอีกมากมายจนกลายมาเป็นอาชีพ จนปัจจุบันได้เจ้าของสูตรอย่างคุณแม่มาอยู่ด้วยและช่วยกันทำขนมพวกนี้แบบคนใจรัก คุณหญิงเน้นว่า “อย่างทองหยิบทองหยอดนี่ทำยาก ต้องดูน้ำตาล ดูเนื้อขนม ถ้าใจไม่รักจริงๆ ทำไม่ได้หรอกค่ะ เพราะต้องใช้ความอดทนสูง”
คำชมที่บอกว่า “กินแล้วเหมือนกินขนมที่เมืองไทยเลย” เป็นเสียงที่ก้องอยู่ในหัวเธอเสมอเวลาทำขนม ซึ่งมักจะบอกกับตัวเองว่าต้องทำให้ดีที่สุดและไม่คิดจะเลิกลาไปไหนตราบใดที่ยังทำไหวและมีคนชอบก็ยืนยันที่จะทำต่อไป อนาคตคุณหญิงวางแผนอยากมีร้านเล็กๆ ทำเป็นครัวเปิด โชว์ทำขนมไทยสดๆ แต่ก็ต้องรอดูช่วงจังหวะกับโอกาสที่เอื้ออำนวยกว่านี้
คุณหญิงทิ้งท้ายว่า “ก็อยากขอบคุณลูกค้าประจำที่ซื้ออยู่เรื่อยๆ นะคะ ต้นทุนเราค่อนข้างสูง บวกกับความประณีตและต้องใช้ระยะเวลาในการทำ เราคิดว่าราคาขนมเราไม่ได้แพงจนเกินไปสำหรับลูกค้า และเราต้องการที่จะอนุรักษ์ขนมไทยให้คนไทยในต่างแดนได้ทานกันด้วยค่ะ อยากลองชิมขนมไทยชาววัง ก็ลองมาซื้อได้ที่ร้านแม่เช็งนะคะ”

สง่า อุดมเดช (ป้าสง่า)
จากแม่ค้าขายอาหารอีสานธรรมดาที่รสชาติไม่ธรรมดา จนสามารถส่งลูกทั้งสามคนมาเรียนเมืองนอกได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร
จากแม่ค้าขายอาหารอีสานธรรมดาที่รสชาติไม่ธรรมดา จนสามารถส่งลูกทั้งสามคนมาเรียนเมืองนอกได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร คุณป้าสง่าวัย 73 ผู้นี้ เล่าให้เราฟังอย่างติดตลกว่า ครอบครัวคุณป้าทำอาหารอีสานขายในตลาดท่าแร่ จังหวัดสกลนครซึ่งคุณป้าก็ได้ฝึกมือมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
“สมัยที่ทำขาย ซุปหน่อไม้ขายดีมาก ต้องขูดหน่อไม้เป็นกะละมังใหญ่ๆ ตอนกลางคืนเพื่อที่จะพอขายในตอนกลางวัน ตอนหลังเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีร้านอยู่หลังตึกการบินไทย ร้านขายดีมาก คนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่แถวนั้นรู้จักป้าหมด จนมีรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มาติดต่อเอาไปลง จากนั้นก็มาอยู่ที่นี่เพราะลูกอยากให้มาช่วยเลี้ยงหลาน แต่ป้าเป็นคนไม่อยู่นิ่ง ก็เลยลองทำอาหารอีสานที่เราถนัดส่งที่ร้านลัคกี้ แล้วมีคนติดใจ ก็เลยทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ค่ะ”
“80% เป็นอาหารอีสานค่ะ” คุณวรรณ ลูกสาวของคุณป้าที่ตอนนี้เข้ามารับช่วงทำอาหารอีสานด้วยใจรักและคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน “อาหารเราทำสดใหม่ ไม่มีค้างคืน แล้วก็พยายามใช้ของสดมากกว่าของแช่แข็ง และที่สำคัญสะอาดแน่นอนค่ะ เราเลือกวัตถุดิบดีๆ มีคุณภาพส่งตรงมาจากเมืองไทยค่ะ”
คุณป้าสง่ารู้สึกภาคภูมิใจมากและอยากขอขอบคุณในการตอบรับที่ดีจากลูกค้าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้คุณป้าเองมีแฟนคลับที่คอยอุดหนุนผลงานของคุณป้าเสมอๆ คุณป้าฝากบอกด้วยคอนเซ็ปเก๋ๆ ว่า “อยากทานอาหารอีสานแท้ๆ ต้องป้าสง่าที่เดียวค่ะ”

เหลือง หลวงวงษ์ (คุณเพนนี)
คงไม่มีใครไม่รู้จักแคบหมูป้าเพนนีเป็นแน่ โดยเฉพาะสาวเหนือทั้งหลาย
หากชอบรับประทานแคบหมู แน่นอนว่า คงไม่มีใครไม่รู้จักแคบหมูป้าเพนนีเป็นแน่ โดยเฉพาะสาวเหนือทั้งหลาย ที่ผ่านไทยทาวน์ครั้งใดมักอดใจไม่ไหวต้องซื้อแคบหมูเก็บไว้ติดบ้านเสมอ
“ป้ามาทำแคบหมูไร้มันขายสิบกว่าปีแล้วค่ะ ที่มาทำเพราะตอนแรกอยากทำกินเอง ทำแล้วมันเยอะก็เลยแบ่งเอาไปให้เพื่อนฝูงกินกัน คนที่ได้กินของเราเขาก็ชมว่าทำอร่อยดี ทำไมไม่ทำขายล่ะ ป้าก็มานั่งคิด แล้วก็ลองทำขายดู ปรากฎว่าขายดีมาก วางได้วันเดียวก็หมด ต้องมีสั่งออเดอร์กันเลย” หลังจากนั้นป้าเพนนีเลยทำขายมากขึ้น ขยับขยายมาทำในร้านอาหารให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ก็ยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนปัจจุบันต้องเปลี่ยนมาทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว
ป้าเพนนีแอบเผยเคล็ดลับกับทีมงานว่า “ที่ทำอร่อยนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าของสูตรดั้งเดิม คือคุณพ่อของคุณป้าเอง ท่านเป็นคนจีนมาจากฮ่องกง ก็เลยถ่ายทอดสูตรมาให้ ที่เลือกทำแคบหมูเพราะว่ามันเป็นอาหารแห้ง อยู่ได้นาน”
ตอนนี้ป้าอายุมากแล้ว จึงให้หลานมารับช่วงต่อทำแทน ส่วนแผนการในอนาคต จะขยายตลาดส่งไปขายตามต่างเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ยังขยายไปขายตามผับกลางคืนและร้านอาหารต่างๆ อย่าง Mexican Food ซึ่งคุณป้าบอกว่าฝรั่งเขาชอบมาก และล่าสุดตอนนี้ก็มีสินค้าใหม่ หนังไก่ทอด คุณป้าเลยฝากให้ไปลองซื้อหามาชิมกัน

พรทิพย์ บุญนาค (คุณหวอ)
เครื่องหมายการค้าของอาหารที่ทำขายด้วยรสชาติอันแสนจัดจ้านของพริกและเครื่องเทศที่ใส่กันมาแบบเต็มสตีม เป็นตัวการันตีได้เลยว่าใครอยากทานอาหารรสจัดต้องอาหารของคุณหวอเท่านั้น
เครื่องหมายการค้าของอาหารที่ทำขายด้วยรสชาติอันแสนจัดจ้านของพริกและเครื่องเทศที่ใส่กันมาแบบเต็มสตีม เป็นตัวการันตีได้เลยว่าใครอยากทานอาหารรสจัดต้องอาหารของคุณหวอเท่านั้น นอกจากคุณหวอจะทำอาหารไทยรสเข้มใส่กล่องแล้ว ยังมีของหวานที่ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน อย่างเช่น บ้าบิ่น และข้าวต้มมัด จนตอนนี้มีออเดอร์ที่ทำส่งร้านอาหารไทยด้วย
คุณหวอทำอาหารกล่องขายมาร่วมสิบปีแล้ว เพราะเห็นว่ามีร้านอาหารของตัวเอง จึงทำให้เกิดไอเดียที่จะหาทางเพิ่มรายได้และเป็นการแบ่งปันความอร่อยให้คนอื่นได้ลิ้มลองบ้าง รวมทั้งมองว่านักเรียนที่มาอยู่ที่นี่หลายคนก็ต้องการประหยัดรายจ่าย ตรงจุดนี้จึงน่าจะเป็นส่วนช่วยนักเรียนไทยให้ได้ทานของดี ซื้อหาสะดวกและด้วยราคาที่ไม่แพง
ทุกวันนี้คุณหวอได้ผู้ช่วยที่เป็นคนรู้ใจอย่างคุณตูน ซึ่งเรียนจบด้าน Commercial Cookery มาช่วยคิด ช่วยพัฒนาสูตรอาหารใหม่ๆ ทั้งทฤษฏีความรู้ของคุณตูนผสมผสานคู่กันไปกับประสบการณ์ของคุณหวอ ทำให้อาหารกล่องมีความหลากหลายมากขึ้น
กลุ่มลูกค้าของคุณหวอจะเป็นกลุ่มคนทำงานและนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่สามารถใช้เป็นตัววัดยอดขายว่าได้เลยว่าช่วงนั้นๆ มีนักเรียนมาอยู่มากน้อยแคไหน ซึ่งคุณหวอเองก็อยากฝากขอบคุณทุกคนที่อุดหนุนและคำติชม ที่เป็นกำลังใจเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนให้ตนเองและคุณตูนไม่หยุดที่จะคิดเมนูใหม่ๆ มาให้ลูกค้าได้ลองเสมอ สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองอาหารของคุณหวอ คุณหวอบอกต้องลอง ลองกระเพราไก่ไข่ดาว ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ แพนงหมูนุ่ม และแกงกะหรี่ที่เป็นเมนูขายดีของเขาเลย

คุณศศิธร (คุณแม่)
ด้วยประสบการณ์ที่แสนโชกโชนในวงการอาหารและขนม ในฐานะเชฟใหญ่จากโรงแรมชื่อดังของเมืองไทย
ถึงแม้ว่าคุณป้าศศิธรท่านนี้จะเพิ่งทำอาหารและขนมกล่องส่งขายที่ ร้านไทยย่านไทยทาวน์ได้เพียงไม่นาน แต่ประสบการณ์แสนที่โชกโชนในวงการอาหารและขนมในฐานะเชฟใหญ่จากโรงแรมชื่อดังของเมืองไทย บวกกับโปรไฟว์ที่ตอนเด็กได้ตามคุณป้าเข้าไปในวังเพื่อเรียนรู้การทำอาหารและงานแกะสลัก จึงทำให้คุณป้าเข้าใจคำว่าอาหารไทยได้อย่างลึกซึ้งกว่าใคร
อาหารกล่อง ที่คุณป้าศศิธรทำ มีเพียงไม่กี่อย่าง เพราะคุณป้าทำเองคนเดียว และทำเพราะรู้สึกรักในการทำอาหารไทยและอยากให้คนไทยที่นี่ได้ทานของอร่อยแบบไทยๆ อย่างน้ำพริกไทยโบราณที่แม้แต่เมืองไทยเองก็ยังหาทานได้ไม่ง่าย เช่น น้ำพริกคั่วภูเก็ต น้ำพริกผัดพิโรธ น้ำพริกขี้กา หรือขนมหวานหน้าตาสวยอย่างลูกชุบที่มองดูก็รู้ว่าผู้ทำนั้นประณีต พิถีพิถันแค่ไหน
ส่วนในเรื่องการหาวัตถุดิบนั้น คุณป้าบอกว่า “เชื่อมั้ยว่าทำอาหารไทยกินที่นี่อร่อยกว่าเมืองไทยเสียอีก เพราะเขาส่งของดีๆ มาขายเราทั้งนั้น อยากได้อะไรก็หาง่าย เข้าร้านชำร้านเดียวก็ได้ครบทุกอย่าง คุณป้าอยากลองขนมไทยและน้ำพริกของป้าดู รับรองไม่ผิดหวัง แต่ถ้าไม่ชอบหรือจะติชมอะไรก็บอกกันได้นะ และป้าเองก็ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่อุดหนุนอาหารของป้าด้วยนะคะ”

คำมูล คำมี (แอน)
“เรากินได้ เขาก็กินได้” นี่เป็นสโลแกนประจำตัวของคุณป้าแอน เจ้าของแบรนด์แคบหมูที่ติดตลาดอีกเจ้าหนึ่งของไทยทาวน์
“เรากินได้ เขาก็กินได้” นี่เป็นสโลแกนประจำตัวของคุณป้าแอน เจ้าของแบรนด์แคบหมูที่ติดตลาดอีกเจ้าหนึ่งของไทยทาวน์ ป้าแอนเล่าให้ฟังว่า แต่แรกเลยไม่ได้คิดจะทำแคบหมูเป็นหลักหรอก เพราะส่งลูกมาเรียนที่นี่ ก็มักเดินทางมาเยี่ยมลูกเป็นประจำ ชอบประเทศนี้ เลยคิดกับสามีว่าบั้นปลายชีวิตอยากมาอยู่ที่นี่ และมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารเป็นธุรกิจที่ยังโตได้อีกเยอะ ซึ่งตอนแรกอาจจะทำร้านอาหาร แต่เมื่อมาอยู่และมองดูจริงๆ แล้วคิดว่าอาจทำไม่ไหว จึงได้เบนเข็มมาทำสวนปลูกผักส่งขายในไทยทาวน์ และทำแคบหมูขายแทน
“ที่เริ่มมาทำแคบหมูเพราะชอบกิน ได้สูตรมาจากป้าอ้วนที่ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่อุดรธานี เราก็ลองถามสูตรว่าเขาทำอย่างไร จากนั้นเราก็ต้องมาปรับปรุงรสชาติในแบบของเราเอง ลองผิดลองถูกอยู่นานจนกว่าจะเข้าที่ ก็เลยได้มาวางขายนิดๆ หน่อยๆ เมื่อก่อนใช้มือทำ ตอนนี้ต้องใช้เครื่องมือช่วยแล้วเพราะทำไม่ทันค่ะ”