Home Editor's Picks เตรียมงานแต่ง กับ แต่งงาน เป็นมากกว่าแค่การจัดงาน

เตรียมงานแต่ง กับ แต่งงาน เป็นมากกว่าแค่การจัดงาน

by ChaYen
Wedding

การ เตรียมงานแต่ง กับ แต่งงาน นั้น ใคร ๆ ก็รู้ว่ายุ่งวุ่นวายมาก เพราะมีหลายเรื่องต้องจัดเตรียม ทั้งสถานที่ ชุดแต่งงาน ของชำร่วย การ์ดแต่งงาน 

ความเป็นจริงแล้ว การแต่งงานเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เป็นประตูเข้าสู่นิยายเรื่องใหม่ที่ดำเนินเรื่องด้วยชีวิตจริง การแต่งงานจึงเป็นมากกว่าแค่การจัดงานเพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบเท่านั้น

Wedding

บทสรุปสุดท้ายของละคร มักปิดฉากความรักด้วยการแต่งงานของตัวเอกในเรื่อง พร้อมด้วยตัวหนังสือว่า จบบริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแต่งงานเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เป็นประตูเข้าสู่นิยายเรื่องใหม่ที่ดำเนินเรื่องด้วยชีวิตจริง และในโอกาสพิเศษนี้ วีอาร์ไทยอยากนำเสนอจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ให้ท่านได้รู้จักคำว่า “การแต่งงาน” ที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่า “งานแต่ง”

งานแบบคลิสเตียน

รูปแบบการแต่งงานแบบคริสเตียน

รูปแบบการแต่งงานที่คนทั่วโลกนิยมจัดมากที่สุดคือ แบบคริสเตียน ซึ่งมักถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่พิธีการแต่ละขั้นตอนนั้นศักดิ์สิทธิ์และแฝงไปด้วยความหมาย ขั้นตอนเริ่มจากการสู่ขอ หมั้นหมายและเตรียมการแต่งงานโดยคืนก่อนวันงานจริงจะต้องมีการซ้อมใหญ่ (The wedding rehearsal) แต่ละนิกายก็อาจมีพิธีกรรมแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย

ก่อนแต่งงานว่าที่เจ้าบ่าว Groom และเจ้าสาว Bride จะต้องเข้ารับคำสอนเกี่ยวกับหลักทางศาสนาที่ว่าด้วยการแต่งงานและหน้าที่ของคู่สมรสที่โบสถ์ ทางโบสถ์จะแจ้งข่าวต่อสัตบุรุษที่มาร่วมรับมิสซา(พิธีล้างบาป) และปิดประกาศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายเป็นโสด อิสระและไม่มีผู้ใดคัดค้าน ดังนั้น หากจะวิ่งไปคัดค้านขณะเจ้าบ่าวเจ้าสาวทำพิธีอย่างในหนังคงเป็นไปได้ยากและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

งานแต่ง

เมื่อถึงวันงาน พิธีการจะเริ่มจากการจุดเทียนหน้าแท่นพิธี ผู้ประกอบพิธี เจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าบ่าวจะเดินมาประจำที่เพื่อรอเจ้าสาว เพลงบรรเลงขึ้น ขบวนเจ้าสาวนำหน้าโดยเพื่อนเจ้าสาวที่ถือช่อดอกไม้ ผู้ที่เดินคนสุดท้ายคือ Maid of honor เพื่อนเจ้าสาวที่สนิทที่สุด

ตามมาด้วย Flower girl เด็กผู้หญิงทำหน้าที่โปรยกลีบดอกไม้ตามทางเดินเข้าพิธี เคียงคู่มากับเด็กผู้ชายถือแหวน Ring bearer ซึ่งมักมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดของฝ่ายเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวเพื่อมาส่งต่อให้กับ Best Man เพื่อนเจ้าบ่าวผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาแหวนนี้จนกว่าจะถึงพิธีแลกแหวน

โดยแหวนนี้จะถูกวางบนหมอนที่จัดทำขึ้นอย่างพิเศษเพราะถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพิธี นิยมใช้แหวนทองคำเกลี้ยงเพราะเป็นโลหะที่บริสุทธิ์ ทนทาน หรือแหวนแพลตตินัมเพราะเป็นโลหะที่แข็งแกร่งที่สุด และที่สำคัญคือกลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อ เพื่อสื่อถึงความรักนิรันดร์

เตรียมงานแต่ง

ปิดท้ายขบวนโดยเจ้าสาว เดินควงแขนมาพร้อมกับคุณพ่อของเธอไปสู่แท่นพิธี นั่นคือเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าบ่าวเป็นผู้รับหน้าที่ปกป้องทะนุถนอมดูแลเจ้าสาวแทน ทุกย่างก้าวเป็นไปอย่างช้าๆเพื่อแสดงถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะแต่งงานอย่างแท้จริง

จังหวะนี้ที่แขกทุกคนยืนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับคู่บ่าวสาว ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มอ่านพระคัมภีร์สวดประกอบพิธี จุดที่สำคัญที่สุด คือการกล่าวคำปฏิญาณ wedding ceremony vows ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด เพราะเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าว่าทั้งคู่จะรัก จะซื่อสัตย์และร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนกว่าความตายจะมาพรากจากกัน และสิ่งที่ใช้แทนคำมั่นสัญญานั่นก็คือ แหวนที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะแลกกันสวมแหวนใส่ไว้ที่นิ้วนางมือซ้ายเพราะเชื่อกันว่ามีเส้นเลือดที่แล่นเข้าสู่หัวใจโดยตรง

เตรียมงานแต่ง

ผู้ประกอบพิธีจะสวดอธิษฐาน ให้พรและประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา จึงเดินออกจากโบสถ์ได้ จบงานแล้วเจ้าสาวมักโยนช่อดอกไม้ให้กับสาวๆในงานซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่รับช่อดอกไม้ได้นั้นจะแต่งงานเป็นคู่ต่อไป

แม้การแต่งแบบคริสเตียนจะมีขั้นตอนเรียบง่าย แต่ก็โรแมนติกและมีมนต์ขลังจากแรงศรัทธาแห่งรักที่แสดงต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า จึงยิ่งสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับความรักนี้

งานแบบไทย

รูปแบบการแต่งงานแบบไทย

มาถึงการแต่งงานแบบไทยกันบ้าง สังคมไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนมากและให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ในครอบครัวจึงต้องทำภายใต้ความเห็นชอบของผู้ใหญ่ จึงเริ่มต้นจากการสู่ขอ ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ไปทาบทามสู่ขอ ถ้าทางฝ่ายเจ้าสาวตกลงก็จะมีการเจรจาขอสินสอดทองหมั้นเพื่อเป็นการยืนยันว่า เจ้าบ่าวมีฐานะพอที่จะเลี้ยงเจ้าสาวให้อยู่เย็นเป็นสุขหรือใช้สินสอดนั้นเพื่อตั้งตัวในการมีชิวิตคู่

เตรียมงานแต่งแบบไทย
การหมั้นหมาย

จัดขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณว่าคู่รักคู่นี้มีการหมั้นกันแล้ว กำลังจะแต่งงานในไม่ช้า ญาติผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายจะหาฤกษ์ยามวันเวลาที่เป็นมงคลเพื่อจัดพิธีหมั้นในวันหมั้นจะมีขันหมากหมั้น ซึ่งเป็น ขันหมากและทองหมั้นที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้ฝ่ายหญิง มีเงิน นาก ถม หมาก8 ผล พลู 4 เรียง บรรจุลงในขันทอง ก้นขันหมากใส่ถุงข้าวเปลือก ถั่วเขียว ข้าวตอกและงาดำอย่างละ 1 ถุง เป็นเคล็ดว่าให้คู่บ่าวสาวมีความเจริญงอกงาม

พิธีแต่งงาน

แต่ละท้องถิ่นอาจมีพิธีกรรมแตกต่างกันไป แต่จุดสำคัญยังคงมีเหมือนกัน คือ การใส่บาตรตอนเช้าหรือไม่ก็นิมนต์พระมาสวดและถวายภัตตาหารเพลเพื่อทำมงคลแก่คู่บ่าวสาว หากพิธีการตอนเช้าเสร็จสิ้นก็จะถึงเวลายกขันหมาก

งานแต่งแบบไทย
ขบวนขันหมากแต่ง

เมื่อถึงฤกษ์ที่กำหนดขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวเข้าบ้านเจ้าสาวซึ่งจะถูกจัดเรียงขบวนอย่างสวยงาม ประกอบด้วย
ขันหมากเอก มีขันสินสอด(ใส่หมากพลูเรียงเหมือนขันหมากหมั้น) ขันทุนสิน(ใส่เงินที่ญาติทั้ง 2 ฝ่ายให้เป็นทุนตั้งตัว)และมีเตียบ(ภาชนะปากผาย มีฝาครอบใช้บรรจุอาหารคาวหวานของมงคลสำหรับเซ่นไหว้)
ขันหมากโท บรรจุขนมต่างๆ จะสามารถจัดเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องเป็นคู่ เช่น ทองเอก ฝอยทอง ขนมจันอับ และผลไม้

งานแต่งแบบไทย
พิธีรดน้ำ

เมื่อรับขั้นหมากแล้ว ก็จะเป็นพิธีรดน้ำ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะนำคู่บ่าวสาวมาจุดธูปเทียนบูชาพระ สวมสายสิญจน์มงคล รดน้ำสังข์แล้วเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว จากนั้นจึงเชิญแขกร่วมรดน้ำสังข์ตามลำดับอาวุโส

งานแต่งแบบไทย
พิธีส่งตัว

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทั้งหมด พ่อแม่เจ้าสาวจะพาเจ้าสาวมาส่งที่ห้องหอ ซึ่งในห้องหอจะมีการโปรยกลีบดอกรัก ดอกกุหลาบและดอกบานไม่รู้โรยไว้บนเตียงเพื่อเป็นเคล็ดให้ความรักยั่งยืน ยาวนาน ญาติผู้ใหญ่จะให้โอวาทและอวยพรแก่ทั้งคู่ก่อนจะลากลับไป

การแต่งงานแบบไทยมีความยุ่งยากกว่าแบบคริสเตียนเล็กน้อย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่คำนึงถึงครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ ความเชื่อและประเพณีที่ดีงาม ทั้งเครื่องแต่งกาย อาหารคาวหวาน และการตกแต่งสถานที่จึงมักถูกจัดอย่างประณีตและสวยงามเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์และประเพณีที่ดีงามไว้โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามสถานการณ์

“ แต่หากมองถึงความพร้อมและปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว การยึดติดกับการแต่งงานคงไม่ทำให้ความรักเบ่งบานไปมากกว่านี้ได้ เพราะพิธีกรรมใดๆ คงไม่สำคัญเท่ากับคำว่ารักและการดูแลถนอมน้ำใจกันให้นานเท่านาน”

ChaYen
งานแบบจีน

รูปแบบการแต่งงานแบบจีน

ยังมีพิธีการแต่งงานแบบจีน ซึ่งมีพิธีรีตองที่เคร่งครัดมากที่สุด อาจมีแตกต่างกันไปบ้าง แต่ตามความเชื่อจีนโบราณก็ต้องปฏิบัติให้ครบหลักการ 3 หนังสือ 6 พิธีการ ดังนี้ 3 หนังสือ ก็คือ หนังสือหมั้นหมาย หนังสือแสดงสินสอดและหนังสือรับตัวเจ้าสาว ส่วนอีก 6 พิธีการเป็นขั้นตอนการปฏิบัติ ได้แต่

การสู่ขอ

แต่ดั้งเดิมจะมีแม่สื่อแนะนำให้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายไปสู่ขอพ่อแม่ฝ่ายหญิงพร้อมมอบของขวัญมงคลให้ ซึ่งในฐานะแม่สื่อ หากการจับคู่นี้สำเร็จก็จะได้รับบำเหน็จ 5 เปอร์เซ็นจากค่าสินสอด

งานแต่งแบบจีน
ขอวันเดือนปีเกิด

เมื่อสู่ขอเรียบร้อยแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบวันเดือนปีเกิดของลูกสาวให้แก่บ้านฝ่ายชายเพื่อนำไปเข้าพิธีเสี่ยงทาย

พิธีเสี่ยงทาย

พ่อแม่ฝ่ายชายจะนำแผ่นวันเดือนปีเกิดของฝ่ายหญิงกลับไปวางไว้หน้ารูปปั้นเทพเจ้าหรือบนโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษชี้แนะว่าการแต่งงานครั้งนี้จะนำโชคดีหรือร้ายมาสู่ครอบครัว ว่าที่คู่บ่าวสาวดวงชงกันหรือไม่ หากไม่มีเหตุการณ์ใดๆ หรือลางบอกเหตุร้ายเกิดขึ้นก็จะเตรียมจัดพิธีหมั้น โดยฝ่ายชาย จะมีหน้าที่เตรียมเงินสินสอดทองหมั้น

มีเครื่องประดับ 4 อย่างคือ สร้อย กำไล ต่างหู แหวน และเครื่องประกอบต่างๆ เช่น หมูสด ผลไม้เป็นส้มเช้ง กล้วยทั้งเครือ ติดอักษรจีนว่า ซังฮี่ (แปลว่า คู่ยินดี ซึ่งต้องจัดเป็นเลขคู่) ขนมจันอับต่างๆ ขนมเหนียวเคลือบงา ซาลาเปา พกท้อ ขนมอี๊ ส่วนฝ่ายหญิง จะจัดเตรียมของหมั้นเป็น แหวนสำหรับมอบให้เจ้าบ่าว เอี๊ยมแดง ซึ่งมีกระเป๋าให้ใส่เมล็ดธัญพืช 5 อย่าง เหรียญทองลายมังกร ต้นซุงเฉ้า เสียบปิ่นยู่อี่ที่ปากกระเป๋าเอี๊ยม และมีสร้อยทองคล้องที่สายเอี๊ยม

เตรียมงานแต่ง
มอบสินสอด

ก่อนวันสมรส 1 เดือน-2 สัปดาห์ ครอบครัวฝ่ายชายพร้อมทั้งแม่สื่อจะส่งหนังสือหมั้น และหนังสือแสดงสินสอดมายังบ้านฝ่ายหญิง นำสินสอดทองหมั้นไปให้ฝ่ายหญิง สวมแหวนและเครื่องประดับให้ว่าที่เจ้าสาว และครอบครัวฝ่ายหญิงก็จะมอบของขวัญตอบมา

ขอฤกษ์

ครอบครัวฝ่ายชายรับหน้าที่หาฤกษ์งามที่จัดงานแต่งและรับเจ้าสาวแล้วนำวันที่ได้ไปแจ้งและขอความเห็นจากครอบครัวฝ่ายหญิง

เตรียมงานแต่ง
รับเจ้าสาว

ในวันสมรส เจ้าสาวจะสวมชุดพิธีการซึ่งชาวจีนนิยมใช้สีแดงหรืออาจเป็นสีขาวตามสมัยนิยม เสียบปิ่นยู่อี่ และประดับใบทับทิมที่ผม (เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์) เจ้าบ่าวใส่ชุดพิธีการพร้อมด้วยแม่สื่อ ญาติสนิทมิตรสหาย เดินทางไปรับเจ้าสาวที่บ้าน เจ้าบ่าวต้องไปเคารพศาลบรรพชนของฝ่ายหญิง แล้วจึงรับเจ้าสาวขึ้นเกี้ยวไปทำพิธีที่บ้านฝ่ายชาย เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ทั้งคู่ต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ รวมทั้งไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว

เตรียมงานแต่ง

จากนั้นยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติผู้ใหญ่ตามลำดับอาวุโสตามที่เราเห็นในหนัง เมื่อเสร็จพิธีไหว้ฟ้าดินแล้วก็ถือว่าบ่าวสาวทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้อง ทั้งคู่จะถูกส่งตัวเข้าสู่ห้องหอตามฤกษ์ที่กำหนด เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าสาวจะต้องทำหน้าที่ยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่เจ้าบ่าวเป็นเวลา 3 วัน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สิ่งสุดท้ายคือ น้องชายเจ้าสาวจะมารับทั้งคู่กลับไปรับประทานอาหารที่บ้านฝ่ายหญิง

ปัจจุบันการแต่งงานแบบจีนอาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม แต่ยังคงมีเคล็ดและความเชื่อในแบบดั้งเดิมเอาไว้บ้าง
การแต่งงานในแบบจีนนี้มีพิธีการค่อนข้างซับซ้อนและมีเคล็ดมีความเชื่อแฝงอยู่มาก ประเด็นสำคัญและเหตุผลคือ ชาวจีนถูกสอนให้รักและกตัญญูต่อผู้ใหญ่รวมถึงบรรพชนที่สิ้นไปแล้ว อะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ควรหลีกเลี่ยง ดังนั้นการแต่งงานของชาวจีนจึงไม่ใช่แค่ความพึงพอใจของเจ้าบ่าวเจ้าสาวเท่านั้น แต่หมายถึงการรวมสองตระกูลเข้าด้วยกัน จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมและกระทำอย่างให้เกียรติกันทั้งสองฝ่าย

เตรียมงานแต่ง

อักษรจีน ซังฮี้ หมายถึง มงคลคู่

อย่างน้อย เตรียมงานแต่ง ไม่ว่าจะแบบใด ก็คือเหตุการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต จึงต้องมีพิธีกรรม มีแบบแผน ซึ่งในทุกขั้นตอนมีความหมายให้เราได้เรียนรู้และยึดถือเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตคู่ การแต่งงานจึงเป็นมากกว่าแค่การจัดงานเพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบเท่านั้น

Related Articles