เวลาคนนึกถึงโปแลนด์ มักจะนึกถึงประวัติศาสตร์หรือการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่คนโปแลนด์ได้เผชิญมา หรือไม่ก็จะนึกไปถึงแหล่งท่องเที่ยวในเมืองสำคัญ เช่น Kraków (คราคูฟ) หรือ Gdańsk (กดังญส์) แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของโปแลนด์แต่คนมักไม่ค่อยนึกถึง นั่นก็คือ European Bison สัญลักษณ์ของโปแลนด์

European Bison เป็นญาติทางสายพันธุ์กับ American Bison แต่มีรูปร่างเพรียวและสูงกว่า และขนาดตัวเล็กกว่า น้ำหนักขนาดโตเต็มวัยอยู่ที่ประมาณ 900 กก. วิ่งได้ความเร็วสูงสุดประมาณ 40 กม./ชม. ในขณะที่ American Bison จะหนักเกือบๆ 1 ตัน และวิ่งได้เร็วกว่าที่ประมาณ 56 กม./ชม… เจ้า European Bison นี้มีอีกชื่อในภาษาอังกฤษด้วยว่า Wisent ส่วนในภาษาโปลิชเรียกว่า żubr (ชูเบรอะ)

แรกเริ่มเดิมที European Bison (ขอเรียก Bison เพื่อความกระชับ) เป็นสัตว์ที่มีอยู่ทั่วไปในป่าแถบยุโรปเนื่องจากที่ไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ แต่เมื่อมนุษย์ได้ตั้งรกรากและขยายถิ่นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่มนุษย์เป็นผู้ล่าที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ทำให้ Bison ลดจำนวนน้อยลงไปทุกที ประกอบกับในยุโรปมีสงครามนับครั้งไม่ถ้วนยิ่งทำให้มีผลกระทบต่อการล่า Bison เพราะเมื่อกองทัพยาตราไปในทิศใด ก็จำเป็นต้องล่าและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อความเข้มแข็งของเหล่าทหาร .. จนทำให้ในปี ค.ศ. 1927 Bison ในป่าตัวสุดท้ายตายลง และเป็นการสูญพันธุ์ของ Bison ในป่ายุโรปอย่างเป็นทางการ

แต่เคราะห์ยังดีที่ยังมี Bison เหลือในสวนสัตว์หรือเป็นสัตว์เลี้ยง ของกลุ่มราชนิกูลหรือคหบดีอยู่บ้าง ทำให้ในปี 1928 กลุ่มนักอนุรักษ์จากโปแลนด์ และเยอรมัน ได้สินใจที่จะขยายพันธุ์ Bison เหล่านี้ ให้มีโอกาสกลับมาเป็นสัตว์ที่สง่างาม ในป่าตามธรรมชาติอีกครั้ง ขณะนั้น ทั้งโลกมี Bison อยู่ตามสวนสัตว์หรือที่ถูกเลี้ยงในที่ต่างๆ เพียง 54 ตัว และในโปแลนด์มีเหลือเพียง 9 ตัวเท่านั้น ในปี 1929 กลุ่มนักอนุรักษ์ได้เริ่มขอ Bison เหล่านี้ทั้งจากเยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก มาจัดทำโครงการ Special Breeding Program ในแถบป่า Białowieża (เบียโวเวียชา) ของโปแลนด์

Białowieża เป็นป่าที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นป่า Primeval หรือป่าโบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่ผืนในยุโรป ปัจจุบันยังมีไม้ป่านานาพันธุ์ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ป่ากินพื้นที่ทั้งใน โปแลนด์และเบลารุส มีขนาดรวมกันใน 2 ประเทศประมาณ 2,200 ตร.กม. (พอๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของเรา) ปัจจุบันป่า Białowieża เป็นมรดกโลกและเป็น Biosphere Reserves ของ UNESCO มีสัตว์ป่าจำนวนมากทั้งกวางหลายชนิด หมาป่า หมาจิ้งจอก ลิงซ์ หมูป่า และสัตว์นานาพันธุ์อีกกว่า 1.2 หมื่นชนิด .. คำว่า Białowieża แปลว่า White Tower เนื่องจากมีกษัตริย์โปแลนด์ พระองค์หนึ่งเคยมาสร้างคฤหาสน์สีขาว เพื่อใช้ล่าสัตว์ที่ป่าแห่งนี้ และที่สุดวันนึงป่าแห่งนี้ได้กลับกลาย จากสถานที่ล่าเอาชีวิตเป็นสถานที่สำคัญในการรักษาชีวิตพันธุ์สัตว์ป่าไปแทน

การเพาะพันธุ์กลุ่ม Bison ใหม่จากจำนวนเริ่มต้นที่มีไม่มาก ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายของ genetic diversity พอสมควร และ Bison เป็นสัตว์ใหญ่ใช้เวลานานกว่า 3 ปีถึงจะเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ และตัวเมียจะให้ลูกราว 2 ปีครั้ง การขยายพันธุ์จึงใช้เวลานาน แต่ก็ไม่นานเกินพยายามของผู้คิดจะอนุรักษ์.. ในปี 1952 Bison คู่แรกถูกปล่อยกลับเข้าสู่อ้อมกอดแห่งผืนป่า Białowieża อันอุดม
คนต่างชาติที่มาโปแลนด์ส่วนมากก็จะมาเที่ยวที่เมืองใหญ่ๆ เพื่อดูเมืองที่มีประวัติศาสตร์และความสวยงามเป็นหลัก เช่น เมือง Kraków จะมีผู้คนต่างชาติมาเยือนประมาณปีละ 3.3 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงประมาณปีละ 1 หมื่นคนที่จะมาเยือนป่า Białowieża เพื่อดู Bison.
เมื่อวันเวลาผ่านไป ความพยายามของมนุษย์ ได้ถูกขานรับโดยการดูแลของธรรมชาติ ทำให้ขณะนี้ มี European Bison เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5,000-6,000 ตัว (American Bison มีประมาณ 5 แสนตัว) หากินอย่างอิสระในป่าของรัสเซีย ยูเครน เบลารุส และสโลวาเกีย … โดยอยู่ในป่า Białowieża ของโปแลนด์จำนวนกว่า 600 ตัว
โปแลนด์ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับ ก็ได้กลายเป็นผู้ส่ง Bison กลับคืนให้แก่สวนสัตว์ หรืออุทยานของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี เช็ก ฮังการี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

ทุกวันนี้ คนต่างชาติที่มาโปแลนด์ ส่วนมากก็จะมาเที่ยวที่เมืองใหญ่ๆ เพื่อดูเมืองที่มีประวัติศาสตร์และความสวยงามเป็นหลัก เช่น เมือง Kraków จะมีผู้คนต่างชาติมาเยือนประมาณปีละ 3.3 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงประมาณปีละ 1 หมื่นคนที่จะมาเยือนป่า Białowieża เพื่อดู European Bison สัญลักษณ์ของโปแลนด์
แต่การที่มีนักท่องเที่ยวมาไม่มาก ก็เป็นข้อดีต่อการอนุรักษ์ ยังทำให้ป่าแห่งนี้ ยังเป็นเพชรที่งำประกาย และมี Bison ใช้ชีวิตเป็นราชาของป่า เป็นนาฬิกาแห่งประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เมื่อมีความตั้งใจดี ก็สามารถจรรโลงสิ่งดีๆ ให้แก่ธรรมชาติได้เช่นกัน
บทความของ (ท่องโลกไปกับ..หนึ่ง-นักการทูต)