Home Editor's Picks Let’s Live in Harmony สีสันแหล่งความหลากหลาย

Let’s Live in Harmony สีสันแหล่งความหลากหลาย

by ChaYen
HARMONYDAY cover

Let’s Live in Harmony สีสันแหล่งความหลากหลาย ทุกสิ่งในโลกนี้อาจไม่ได้มีแค่สีขาว สีดำเท่านั้น แต่ยังมีสีอื่นๆ ที่เข้ามาผสมผสาน กลายเป็นรุ้งที่หลากสี ทำให้โลกนี้สวยงามขึ้น มีหลายด้านหลายมุมให้เราได้มอง เฉกเช่นผู้คนที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างที่มา

แต่เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วจึงเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าประเทศออสเตรเลียได้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศน่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเสมอ เนื่องด้วยประเทศนี้มีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนที่กินดีอยู่ดี สภาพอากาศและภูมิประเทศที่สวยงาม ทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันเข้ามาอยู่รวมกัน จนเกิดความแตกต่างทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก

สีสันแหล่งความหลากหลาย

Hamony

กลุ่มชนผิวสี

สำหรับออสเตรเลียแล้ว กลุ่มชนผิวสีที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ ชาวอะบอริจิ้น (Aborigine) กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่มีลักษณะใหญ่ ผิวคล้ำ และผมหยิก ซึ่งมีกันอยู่หลายเผ่า บ้างก็ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่ง บ้างก็ดำรงชีวิตคล้ายกลุ่มชนเร่ร่อน จากหลักฐานศึกษาค้นคว้าต่างๆ พบว่าชาวอะบอริจิ้นมีอยู่หลายเผ่า แต่หลักๆแล้วชาวอะบอริจิ้นก็มีวัฒนธรรมของตัวเอง หน้าที่ของฝ่ายชายนั้น คือ การเป็นนักล่า และพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมเผ่าของฝ่ายตน ส่วนฝ่ายหญิงจะคอยดูแล เลี้ยงดูเด็ก หุงหาอาหาร

ซึ่งทุกคนในเผ่าจะปฏิบัติตามกฏและพิธีกรรมเฉพาะของชนเผ่าอย่างเคร่งครัด ซึ่งขนบประเพณีของชนเผ่าส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับคน ธรรมชาติ และดินแดนที่อาศัย เช่น การเชื่อถือในเรื่องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอะบอริจิ้น เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่วิญญาณจะเดินทางไป หลังจากตายไปแล้ว ซึ่งลูกหลานจะต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษ รวมถึงเชื่อว่า วิญญาณ ของ บรรพบุรุษ จะคอยคุ้มครอง ปกป้องรักษาเผ่าของตนสืบไป ไม่ก่อให้เกิด ภัยธรรมชาติ

Aborigin

และจากการเข้ามาของกลุ่มชนผิวขาวชาวยุโรปเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวอะบอริจิ้นจึงถอยร่นออกจากดินแดนไป ในปัจจุบัน ชาวอะบอริจิ้น ถูกให้ความสำคัญมาก มีการออกกฏหมายเพื่อปกป้องและให้สิทธิชาวอะบอริจิ้น รวมถึงได้รับกองทุนสนับสนุน การศึกษาและสวัสดิการต่างๆ ด้วย ซึ่งเราก็ยังคงเห็นชาวอะบอริจิ้นยังใช้ชีวิตร่วมกับเราในสังคมอย่างปกติ บ้างอาจใส่สูทมาทำงาน บ้างอาจเล่นดนตรี และบางคนอาจเดินอย่างไร้จุดหมาย

แต่พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นคน มีค่า มีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา กลุ่มคนผิวสีอีกกลุ่มที่ดูแตกต่าง คือ กลุ่มชนชาวเอเชีย ที่มีรูปร่างลักษณะที่ค่อนข้างเล็ก ผิวออกเหลือง ซึ่งเป็นลักษณะส่วนมากของกลุ่มชนชาวเอเชีย มีวัฒนธรรมที่เคารพผู้อาวุโส นิยมสำรวมกิริยา และไม่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง และด้วยวัฒนธรรมนี้ ทำให้ถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่ไม่กล้าแสดงออก จึงถูกรังแกได้ง่าย

Homeless

บุคคลเร่ร่อน บุคคลไร้บ้าน

หรือที่เรียกกันว่า บุคคลเร่ร่อน บุคคลไร้บ้าน ซึ่งเราอาจเห็นเขาเหล่านั้น เดินเตร็ดเตร่อยู่บนท้องถนน พักอยู่ตามใต้สะพาน อุโมงค์และเร่ร่อนไปเรื่อยๆ สาเหตุของการที่บุคคลออกมาเร่ร่อนนั้นมีหลายสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น การมีปัญหาภายในครอบครัว การติดสารเสพย์ติด ประสบปัญหาทางการเงิน อาคารบ้านเรือนที่ไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย

แต่สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้บุคคลนั้นๆ ยินยอมที่จะมาเดินเร่ร่อนตามท้องถนนคือ เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงขึ้นในภายในบ้าน ทั้งที่พวกเขาก็รู้ดีว่าการที่ออกมาผจญโลกภายนอกนั้นไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน และเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน มีองค์กร Red Cross ที่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลมาช่วยเหลือดูแล เช่น การนำอาหารและเครื่องดื่มมาแจกจ่ายตามสวนสาธารณะ การเอาเสื้อผ้ามาบริจาค เป็นต้น

Hamony3

กลุ่มเพศที่สาม

ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ความรักระหว่างเพศเดียวกัน อาจถูกกีดกันด้วยธรรมเนียมและและประเพณีในบางประเทศ แต่ ณ ประเทศนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เปิดกว้าง ให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งใครจะรักกับใคร เพศใด ก็ไม่มีใครจะขัดขวาง ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้

ซึ่งมักใช้ชื่อว่ากลุ่มชนชาวสีม่วง หรือกลุ่มรักร่วมเพศ ที่มักชอบในเพศเดียวกัน มีการออกกฏหมายจากรัฐบาลออสเตรเลียและก่อตั้งองค์กรมากมายจากกลุ่มชนเพื่อรักษาสิทธิและปกป้องกลุ่มคนสีม่วงนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัย สนับสนุนกิจกรรมและสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในสังคม

HARMONYDAY

ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลออสเตรเลีย จึงมีความต้องการที่จะให้ทุกคนทุกชนชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสันติ ปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เทศบาลเมืองซิดนีย์ (City of Sydney) ที่รับผิดชอบเมืองที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมทั้งความหลายหลายของเชื้อชาติมากที่สุดในประเทศ ได้จัดกิจกรรมมากมายภายใต้เทศกาล Living In Harmony Festival โดยจะจัดขึ้นตลอดเดือนมีนาคมของทุกปี จนทำให้เกิด Harmony Day ขึ้น

Harmony

หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่า Harmony Day จัดขึ้นพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่ หรือผู้อ่านบางท่านอยากเข้าร่วมในกิจกรรม Living In Harmony Festival นี้ แต่ไม่ทราบว่าจะไปร่วมงานได้ที่ไหน ยกตัวอย่างกันง่ายๆ กับงานที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่างงาน Thailand Grand Festival ที่จัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ และได้รับการสนับสนุนจาก เทศบาลเมืองซิดนีย์ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ Living In Harmony Festival เช่นเดียวกัน

Hamony4

สาเหตุหลักของการจัดงานวัน Harmony Day คงต้องมองย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศออสเตรเลียที่ถือเป็นประเทศเกิดใหม่ และมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่ยังขาดในเรื่องของปัจจัยด้านแรงงาน ที่สมัยนั้นยังมีคนอยู่อาศัยในประเทศนี้อย่างเบาบาง ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลออสเตรเลีย จึงต้องการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในสมัยนั้น

ซึ่งวิธีการที่ได้ผลเร็วที่สุดคือเชื้อเชิญให้ชาวต่างชาติย้ายถิ่นมาอยู่ที่ประเทศแห่งนี้ จนในปัจจุบันมีคนต่างเชื้อชาติมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางรัฐบาลก็เล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบตรงนี้ เพื่อจะเอามาพัฒนาประเทศและสร้างความแข็งแกร่งของคนในชาติให้มีความรู้ความสามารถ

Harmony

ในการพัฒนาประเทศในแบบยั่งยืนต่อไป กิจกรรม Living In Harmony Festival จึงได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศในสายตาชาวโลกว่า ออสเตรเลียไม่ได้พัฒนาแค่เพียงทางวัตถุ แต่เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจควบคู่กันไปด้วย จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง และยังสอดคล้องกับนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการขจัดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำทางสังคมเช่นนี้ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติเป็นอย่างมากเพราะมีไม่กี่ประเทศที่คนที่มาจากต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

Hamony5

ผลที่ตามมาก็คือ คนในชาติ ได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น อาหาร งานศิลปะ การแต่งกาย แนวความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เป็นอย่างดี  รวมถึงคนต่างชาติหรือต่างเพศที่จะเข้ามาทำงานหรือศึกษาหาความรู้ก็จะมีความรู้สึกว่าตนเองใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับในสังคมกว่าประเทศอื่นๆ

กิจกรรมที่ทางเทศบาลซิดนีย์และกลุ่มขององค์กรที่ได้จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคนนั้นมีหลากหลาย และจัดไปตามที่ต่างๆ รอบเมืองซิดนีย์ ซึ่งหลักๆ แล้วงานจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ก็คือ งานในกลุ่มของชนพื้นเมือง หรือ Aborigine งานในกลุ่มของชาวเพศที่สาม Gay & Lesbian และสุดท้ายเป็นกลุ่มของชาวผิวสี ซึ่งมีความน่าสนใจและต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของ Living In Harmony Festival ว่าดีอย่างไร

“รัฐบาลออสเตรเลีย จึงมีความต้องการที่จะให้ทุกคนทุกชนชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสันติ ปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เทศบาลเมืองซิดนีย์ (City of Sydney) ที่รับผิดชอบเมืองที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมทั้งความหลายหลายของเชื้อชาติมากที่สุดในประเทศ ได้จัดกิจกรรมมากมายภายใต้เทศกาล Living In Harmony Festival ”

ChaYen

กิจกรรมของชนพื้นเมือง

Harmony

Aboriginal Men’s Cultural Exchange

ทุกคนได้รับเชิญทั้งหมด ถ้าหากคุณเป็นผู้ชายก็สามาร่วมงานนี้ได้เลย กับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของชาวอบอริจิ้น ในงานคุณจะได้เรียนรู้การใช้หรือเครื่องเป่าของชาวอบอริจิ้น การเพ้นท์ตัว การเต้นรำและร้องเพลงตามสไตล์ของชาวอบอริจิ้น งานนี้มีเสียค่าเข้าแต่ต้องจองที่นั่ง สามารถสำรองที่นั่งได้ที่เบอร์ 02 9288 5713 งานจะจัดขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าถึงเที่ยง ที่ Redfern Community Centre เลขที่ 29–53 Hugo Street, Redfern

Harmony7

Aboriginal Art Gathering

มาเรียนรู้สิ่งใหม่กับงานศิลปะเป็นดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยของชาวอบอริจิ้น ภายในงานคุณจะได้พบกับ Graham Toomey ศิลปินที่สร้างงานศิลป์เกี่ยวกับประเทศออสเตรเลียและบรรพบุรุษของเขา โดยเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดและสี โดยที่ตัวเขาเองจะมาเป็นไกด์ที่จะคอยอธิบายงานศิลป์เหล่านี้ ว่าสีที่ใช้ เทคนิคที่ใช้ รวมทั้งสัญลักษณ์และความหมายที่ต้องการสื่อในภาพวาดนั้นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างจิตวิญญ่ณของเขากับประเทศแห่งนี้ เข้าชมฟรี ได้ที่ Redfern Community Centre เลขที่ 29–53 Hugo Street, Redfern ในวันที่ 20 และ 27 มีนาคม ตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงเที่ยงวัน

กิจกรรมของกลุ่มชาวผิวสี

White Rabbit Gallery Exhibitions

Let’s Live in Harmony

White Rabbit Gallery

ที่ Chippendale คือหอศิลป์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่แสดงผลงานศิลปะจีนร่วมสมัย ผลงานที่แสนโดดเด่นด้วยแนวความคิดและเทคนิคจากศิลปินมากประสบการณ์และเต็มไปด้วยพรสวรรค์ที่ต้องมาชมให้ได้ และพบกับไกด์ที่จะมาอธิบายถึงเบื้องลึกของงานศิลปะแต่ละชิ้นรวมทั้งศิลปินที่สร้างผลงานแต่ละท่านกันแบบฟรี ตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึง บ่าย 2 โมง หอศิลป์ White Rabbit Gallery เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 10 โมง ถึง 6 โมงเย็น และสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02 8399 2867

Let’s Live in Harmony

Afghanistan: Hidden Treasures from the National Museum, Kabul

เชิญชมนิทรรศการแสดงสมบัติเก่าแก่และของมีค่าที่ส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เมืองคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ความน่าสนใจของงานนี้อยู่ตรงที่ ประเทศอัฟกานิสถานในสมัยก่อน เคยถูกใช้เป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกัน จึงทำให้มีสมบัติล้ำค่าอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับของที่ประเมินค่าไม่ได้ที่นำมาจัดแสดงทั้งสิ้นกว่า 23 ชิ้นงาน บางชิ้นมีอายุมากกว่า 1000 ปี ตื่นตาตื่นใจกับ งานแสดงที่หาชมได้ยากยิ่ง  และเต็มไปด้วยคุณค่าที่วัฒนธรรมอันยาวนานของอัฟกานิสถาน เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยนั้น ทั้งที่ทำจากทอง ทองแดง งานปั้นจากหิน งาช้าง  ผลิตภัณฑ์จากแก้ว และงานศิลปะของคนในสมัยนั้น งานนี้มีให้ชมที่ Art Gallery of New South Wales ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึง 1 มิถุนายน 10 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นของทุกวัน

กิจกรรมของชาวเพศที่สาม

Let’s Live in Harmony

Mardi Gras Parade

ถึงแม้ว่างานพาเหรดมาร์ดิกราส์ งานใหญ่แห่งปีงานนี้ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งที่ผู้จัดทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชนต้องการสื่อให้เห็นก็คือการร่วมแรงร่วมใจกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวเพศที่สาม ที่สามารถจัดงานใหญ่เช่นนี้ได้ จนกลายเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติว่าประเทศออสเตรเลียถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้การยอมรับเพศที่สาม

Let’s Live in Harmony

Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras (SGLMG) คือองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการงานพาเหรดมาร์ดิกราส์และงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวเพศที่สามตลอดทั้งปี องค์กรนี้ทำหน้าที่สร้างสรรค์งาน จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน และผลักดันกฎหมายที่ให้เกิดความเท่าเทียมของคนเพศที่สาม บนพื้นฐานความเสมอภาค และความรักที่ไม่มีขอบเขตจำกัด กล่าวคือ SGLMG เป็นองค์กรหลักของชาวเพศที่สามที่ทำหน้าที่ผลักดันแนวความคิดของชาวเพศที่สามให้ได้รับการยอมรับนั่นเอง

Let’s Live in Harmony

มาร์ดิกราส์ ที่ซิดนีย์ ยังคงเป็นงานพาเหรดของชาวเพศที่สามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังและความสวยงามของความแตกต่างด้านเพศที่ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องงานนี้ก็ยังจะดำเนินต่อไป กับผู้เข้าร่วมเดินพาเหรดกว่า 10000 คน ในแต่ละปี รวมทั้งอาสาสมัครนับพันคนที่มาช่วยให้งานสำเร็จโดยสมบูรณ์ ผู้คนแสนจากทั่วสารทิศในแต่ละปี ต่างเข้าร่วมงานตามท้องถนนหรือบนอาคารเพื่อเฝ้าดูงานพาเหรดที่ยิ่งใหญ่นี้ ในขณะเดียวกันก็มีจะนวนไม่น้อยที่รอชมการถ่ายทอดอยู่หน้าจอทีวี แต่แน่นอนไม่มีอะไรจะดีเท่าการมาร่วมในงานนี้ด้วยตัวเอง

สวัสดิภาพสมาคม Thai Welfare Association

TWA logo

และในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งออสเตรเลียก็มีกฏหมายรองรับกลุ่มบุคคลทุกกลุ่มโดยแบ่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในฐานะคนไทยหากเราไม่รู้ว่าจะติดต่อกับใคร หน่วยงานใด ก็มีหน่วยงาน Thai Welfare มาช่วยประสานงานให้ ซึ่ง คุณเก๋ สินีนารถ ขานทะราชา ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน

คุณเก๋ “ในฐานะตัวแทนของสมาคม Thai Welfare นะคะ ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า หน่วยงานของเราเป็นศูนย์กลางประสานงาน ให้กับคนไทยค่ะ เพราะเราก็เข้าใจหัวอกคนไทยด้วยกันว่า บางคนมาอยู่ที่นี่ ภาษาอาจจะไม่ดีมาก ต่อเมื่อเกิดเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร หรือถูกทำร้าย เขาก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร หรือติดต่อใคร ก็อยากให้นึกถืงหน่วยงานของเราค่ะ แต่ต้องขอย้ำว่า เราเป็นตัวกลางคอยติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เท่านั้น ไม่ได้รับดูแลปัญหานั้นๆค่ะ

คุณเก๋

ส่วนมากหากเกิดเรื่องใดๆ ขึ้นก็ตาม ก็จะมีหน่วยงานรองรับต่างหาก แยกกันออกไป  แต่เบื้องต้นคือให้ติดต่อหน่วยงานกลางฉุกเฉินหมายเลขโทรศัพท์ 000 ที่จะรับในทุกเรื่องและประสานงานต่อไปเอง ค่ะ พี่ขอยกเป็นกรณีๆไปนะคะ จะได้ดูง่าย เช่น หากจะแจ้งเหตุร้ายทั่วไป เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล หรือกลุ่มคนใดๆ มีปัญหา ไม่ว่าจะอะบอริจิ้น Homeless  หรือคนทั่วไป ติดต่อหน่วยงาน Discrimination ซึ่งจะมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเหตุด่วนเหตุร้ายทั่วไปค่ะ

Let’s Live in Harmony

หากมีปัญหาเกี่ยวกับการโดนเหยียดเพศ ก็มีหน่วยงาน Same sex transsexual ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ หรือหากมีการเหยียดผิว เหยียดสัญชาติ ในการทำงาน ก็ต้องแจ้งกับ Fair Work ค่ะ แต่ว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ต้องพิจารณาดีๆ ก่อนนะคะ ว่าเขาเหยียดผิว เหยียดสัญชาติเราจริงๆ หรือเปล่า เช่น เราได้เรทการจ้างงานต่ำคนที่นี่หรือจากประเทศอื่นๆ ก็อยากให้ดูก่อนว่า

ก่อนทำงานเขามีการแจ้งเราไหม ว่าเราได้เรทเท่าไหร่ เพราะอะไร มีการเซ็นสัญญาตกลงกันเรียบร้อยไหม และที่สำคัญเป็นไปตามเรทการจ้างงานที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่ ส่วนมากเขามีสัญญาให้อ่าน ให้เซ็นก่อนเพื่อรับรู้อยู่แล้วว่า เราได้เรทค่าจ้างเท่าไหร่ แต่พอเรามารู้ว่าเขาจ่ายให้คนอื่นมากกว่า อาจจะเพราะคนอื่นเขาเป็นคนที่นี่หรือมาจากประเทศอื่นๆ ที่ภาษาอาจจะดีกว่าเรา อย่างนี้ก็คงไม่แปลกอะไรที่เขาจะให้มากกว่า สำคัญที่เขาให้เรทเราตามที่ตกลงหรือไม่ และเป็นไปตามเรทของรัฐบาลหรือไม่ค่ะ

Let’s Live in Harmony

Let’s Live in Harmony จริงๆแล้วในมุมมองของพี่ การที่เราอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างแบบนี้ สิ่งแรกเลยเราควรสิทธิของคนอื่นว่าทุกคนเท่าเทียมกันหมด  เรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองด้วยข้อกฏหมายเหล่านี้ และเราก็ควรที่จะปฏิบัติตัวให้เกียรติ ให้ความเท่าเทียมกันบุคคลอื่นๆด้วยเช่นกัน สมมติมีคนเดินมาขอเงินเรา เราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ และเดินหนีไปซะ เลี่ยงการปะทะ ดีกว่าไปทะเลาะกับเขาให้เดือดร้อน และพี่ว่าดีซะอีกที่เรามาอยู่แบบนี้ เราได้เห็นโลกที่มันกว้างขึ้น เห็นคนในแบบที่เราไม่เคยเห็น หากเราอยู่ในสังคมที่หลากหลายได้ ไม่ว่าเราจะไปไหน เราก็เหมือนมีภูมิคุ้มกัน เราอยู่ได้ทั้งนั้นละคะ “

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่สวยงามและน่าอยู่ และในฐานะที่เราเป็นคนไทย ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความแตกต่างหลากหลายนี้ แต่การที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ เราทุกคนควรเริ่มจากการเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะกับบุคคลใดก็ตาม เท่านี้คุณก็อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีสุขแล้ว และวีอาร์หวังว่าสิ่งที่เราได้นำเสนอนี้จะทำให้ เราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ Harmony Day จะเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมกันในประเทศแห่งนี้อย่างมีความสุข

Related Articles